โครงการประกันภัยพืชผล

ข่าวสารและกิจกรรม

ก้าวสู่ปีที่ 10 โครงการประกันภัยพืชผล ผุดไอเดียใช้แอปพลิเคชันรายงานความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

ก้าวสู่ปีที่ 10 โครงการประกันภัยพืชผล ผุดไอเดียใช้แอปพลิเคชันรายงานความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

22 กันยายน 2563 โครงการประกันภัยพืชผล

สมาคมประกันวินาศภัยไทย พัฒนาแอปพลิเคชันเพื่อเกษตรกร ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ใช้ในการรายงานความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น ผ่านแอปพลิเคชันที่มีชื่อว่า “มะลิซ้อน” และ “รีคัลท์” ที่จะช่วยลดขั้นตอน และระยะเวลาในการรายงานความเสียหายของพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ช่วยในการเก็บข้อมูลเกษตรกร รูปภาพความเสียหายพร้อมตำแหน่งสถานที่ประสบภัยพิบัติได้ทันที และช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยได้อย่างครอบคลุม และรวดเร็วยิ่งขึ้น พร้อมเดินสายจัดอบรมให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศเพื่อช่วยแนะนำเกษตรกรใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยสามารถดาวน์โหลดทั้ง 2 แอปพลิเคชัน ได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับภาครัฐในการดำเนินการโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่อง และมีพื้นที่รับประกันภัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี โดยเริ่มต้นด้วยการประกันภัยข้าวนาปี ในปี 2554 และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2562 เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืช ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความแปรปรวนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ หรือ Climate Change ดังนั้นหากเกษตรกรไทยได้มีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืชแล้ว จะช่วยให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมั่นใจ และมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น ถึงแม้ว่าบริษัทประกันวินาศภัยจะประสบกับภาวะขาดทุนจากการรับประกันภัยในบางปี แต่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยยังคงมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้กับภาคเกษตรกรรมของไทย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและตอบสนองนโยบายของภาครัฐต่อไปในอนาคต

จากข้อมูลผลการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปีพบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2562 รวม 9 ปีนั้น ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวเป็นจำนวนกว่า 116 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 9,625 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวน 10,803 ล้านบาท มีอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนกว่า 113% ส่วนผลการรับประกันภัย ในปี 2563 มีพื้นที่รับประกันภัยรวมกว่า 44 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 72.57% และมีเบี้ยประกันภัยรวม 3,758 ล้านบาท

ทางด้านโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เริ่มโครงการเมื่อปี 2562 เป็นปีแรกพบว่า ผลการดำเนินงานรวม 1 ปี คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวโพดเป็นจำนวนกว่า 1.8 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 76 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรแล้ว จำนวนกว่า 348 ล้านบาท มีอัตราการจ่ายสินไหมทดแทนกว่า 458% ส่วนผลการรับประกันภัย ในปี 2563 มีพื้นที่รับประกันภัยรวมกว่า 2 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 71.82% และมีเบี้ยประกันภัยรวม 325 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลากว่า 10 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนารูปแบบของโครงการประกันภัยพืชผลให้มีความเหมาะสมกับเกษตรกร มีการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้เพื่อให้เกษตรกรได้รับความสะดวก รวดเร็วมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของการรายงานความเสียหายและการจ่ายค่าสินไหมทดแทน สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 นี้ สมาคมฯ ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ศึกษาวิจัยและนำเทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมมาใช้ในการสำรวจความเสียหายจากภัยธรรมชาติของแปลงนาซึ่งเกษตรกรสามารถถ่ายรูปรายงานความเสียหายได้เองทางโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชัน “มะลิซ้อน” สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี และแอปพลิเคชัน “รีคัลท์” สำหรับโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ควบคู่ไปกับการประเมินความเสียหายโดยคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติของภาครัฐ หากเกษตรกรในโครงการได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทั้งในกรณีที่อยู่ในเขต และนอกเขตพื้นที่ที่ผู้ว่าราชการจังหวัดประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกรณีฉุกเฉินก็สามารถรายงานความเสียหายได้ทันทีเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบข้อมูลและดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว

“แอปพลิเคชันทั้งสองนี้ เราพัฒนาขึ้นเพื่อเกษตรกร ใช้เป็นเครื่องมือในการแจ้งความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติ ช่วยให้สามารถรายงานความเสียหายได้ทันทีจากโทรศัพท์มือถือ โดยการถ่ายรูปพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายผ่านแอปพลิเคชันดังกล่าวได้เอง จากจุดแปลงนาหรือแปลงข้าวโพดที่เกิดความเสียหายส่งไปยังระบบฐานข้อมูลได้สะดวก รวดเร็วขึ้น โดย ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทย สามารถติดตามความเสียหายได้แบบ real-time ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนี้ จะเป็นการวางรากฐานที่สำคัญเพื่อปรับปรุงรูปแบบการประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพัฒนาการจ่ายค่าสินไหมทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วยิ่งขึ้น จะช่วยลดปัญหาในการบริหารจัดการค่าสินไหมทดแทนและสร้างวิถีใหม่ในการทำเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรไทย ทั้งยังช่วยต่อยอดการเป็น Smart Farmers แบบครบวงจร ซึ่งจะช่วยให้การประกอบอาชีพการเกษตรในประเทศไทยนั้นมีความยั่งยืน”

ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้กำหนดจัดการอบรมความรู้เรื่อง การใช้งานแอปพลิเคชันการรายงานความเสียหาย และ เว็บแอปพลิเคชัน โครงการประกันภัยข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2563 ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้กับเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และใช้งานได้อย่างถูกต้องต่อไป โดยจัดอบรมขึ้นทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมทั้งหมด 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และสงขลา ตามลำดับ และจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ความรู้และคลิปวิดีโอ แนะนำการใช้งานแอปพลิเคชันการรายงานความเสียหายดังกล่าว เผยแพร่ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องและเกษตรกรได้รับทราบ และสามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่ และสามารถดาวน์โหลดทั้ง 2 แอปพลิเคชันได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป  นายอานนท์กล่าว