ประวัติโครงการประกันภัยพืชผล
โครงการประกันภัยพืชผล ในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พ.ศ. 2554 จากการที่เกษตรกรต้องเผชิญกับความเสี่ยงในระหว่างการเพาะปลูก รัฐบาลจึงหาเครื่องมือมาบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรโดยใช้ระบบประกันภัย ซึ่งรัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งชดเชยค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อให้ความเสี่ยงของเกษตรกรได้รับการดูแลอย่างครบวงจร
โครงการประกันภัยพืชผล ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมกันขับเคลื่อนโครงการฯ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วย:
- สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง (สศค.):
เป็นผู้มีบทบาทหลักในฐานะผู้นำโครงการ ทำหน้าที่ประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งเสนอโครงการเพื่อขออนุมัติงบประมาณจากคณะรัฐมนตรี
- กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์:
เป็นผู้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) และออกใบขอรับความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย (กษ.02 เพื่อการประกันภัย)
- สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.):
เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย
- ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.):
เป็นผู้มีบทบาทในการเป็นช่องทางการขายกรมธรรม์ประกันภัยให้กับเกษตรกร
- สมาคมประกันวินาศภัยไทย:
เป็นผู้บริหารจัดการโครงการและเชิญชวนบริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วมการรับประกันภัย