สมาคมประกันวินาศภัยไทย ชี้แจงการซื้อประกันภัยคุ้มครองโรค COVID-19 สำหรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้าประเทศไทย
29 ตุลาคม 2563 กิจกรรมส่วนกลางจากการที่ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เห็นชอบมาตรการการเปิดประเทศ สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) แบบ “จำกัดจำนวน” ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ โดยการเปิดประเทศแบบจำกัดนี้ได้เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา ด้วยการรับเฉพาะนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษที่จะมาพำนักอยู่ในประเทศไทยระยะยาว ไม่ต่ำกว่า 90-270 วัน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินหน้าเพื่อฟื้นฟูภาคเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศไทยให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ หลังจากที่ต้องหยุดชะงักมานานกว่า 8 เดือน จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางมายังประเทศไทย จะต้องเป็นผู้ที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย (Long Stay) โดยต้องยอมรับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคตามที่ทางการกำหนด และยินยอมเข้ารับการกักตัวในสถานกักกันทางเลือก (Alternative State Quarantine: ASQ) ไม่น้อยกว่า 14 วัน รวมทั้งต้องมีเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ สำหรับการเดินทางเข้าประเทศไทยอย่างครบถ้วนตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ ศบค. และกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้ [คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 8/2563 เรื่อง แนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2558 (ฉบับที่ 7) ลงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ลงวันที่ 29 กันยายน 2563] โดยนักท่องเที่ยวจะต้องทำประกันภัยเพื่อคุ้มครองโรค COVID-19 ที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 3,200,000 บาท และต้องทำประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 40,000 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก และไม่น้อยกว่า 400,000 บาทสำหรับผู้ป่วยใน ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทย
นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนี้ว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับบริษัทสมาชิก จำนวน 13 บริษัท บริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมประกันชีวิตไทย จำนวน 3 บริษัท สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดทำโครงการประกันภัยคุ้มครองการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย โดยจัดเตรียมช่องทางออนไลน์เพื่อจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองโรค COVID-19 ผ่านทางเว็บไซต์ https://covid19.tgia.org
ชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงนี้ ซึ่งได้แก่
1. ผู้ควบคุมยานพาหนะหรือเจ้าหน้าที่ประจำยานพาหนะซึ่งจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาตามภารกิจและมีกำหนด
เวลาเดินทางออกนอกราชอาณาจักรชัดเจน
2. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นคู่สมรส บิดา มารดา หรือบุตรของผู้มีสัญชาติไทย
3. คนต่างด้าวซึ่งมีใบสำคัญถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร ตลอดจนคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าว
4. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีใบอนุญาตทำงานหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมาย ตลอดจนคู่สมรสและบุตรของบุคคลดังกล่าว
5. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งเป็นนักเรียนหรือนักศึกษาของสถานศึกษาในประเทศไทยที่ทางการไทยรับรอง ตลอดจนบิดา มารดา หรือผู้ปกครองของบุคคลดังกล่าว
6. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งมีความจำเป็นต้องเข้ามารับการตรวจรักษาพยาบาลในประเทศไทย และผู้ติดตามของบุคคลดังกล่าว แต่ต้องไม่เป็นกรณีเข้ามาเพื่อการรักษาพยาบาลโรค COVID-19
7. ผู้ไม่มีสัญชาติไทยซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรตามข้อตกลงพิเศษระหว่างหน่วยงานของรัฐของประเทศไทยกับต่างประเทศ
ทั้งหมดนี้จะต้องทำประกันภัยคุ้มครองโรค COVID-19 ที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 3,200,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ตามที่ ศบค. กำหนดไว้
สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (STV) ที่ประสงค์จะเดินทางมาพำนักระยะยาวภายในประเทศไทย (Long Stay) นั้น นอกจากต้องทำประกันภัยคุ้มครองโรค COVID-19 ที่มีวงเงินคุ้มครองดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังจำเป็นต้องทำประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุที่มีวงเงินคุ้มครองไม่น้อยกว่า 40,000 บาทสำหรับผู้ป่วยนอก และไม่น้อยกว่า 400,000 บาทสำหรับผู้ป่วยใน ตลอดระยะเวลาที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยด้วย โดยนักท่องเที่ยวที่สนใจสามารถซื้อประกันภัยสุขภาพและอุบัติเหตุผ่านทางเว็บไซต์ https://longstay.tgia.org ที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้จัดเตรียมไว้ให้ได้
ในส่วนของการทำประกันภัยคุ้มครองโรค COVID-19 สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ได้ร่วมกับบริษัทสมาชิก ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จัดทำกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองโรค COVID-19 ที่มีวงเงินคุ้มครอง 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 3,200,000 บาท เพื่อรองรับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางมายังประเทศไทยข้างต้น ซึ่งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. ให้ความคุ้มครองกรณีผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยบริษัทประกันภัยจะจ่ายผลประโยชน์หรือค่าทดแทน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพ และค่าใช้จ่ายในการส่งศพหรืออัฐิกลับประเทศ ไม่เกินวงเงินดังกล่าวข้างต้น และ 2. ให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่า ป่วยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จนเป็นเหตุให้ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลและรักษาพยาบาลต่อเนื่อง ไม่ว่าจะในฐานะผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก ซึ่งบริษัทประกันภัยจะจ่ายผลประโยชน์หรือค่าทดแทน สำหรับค่าใช้จ่ายที่จำเป็นและสมควรตามความจำเป็นและมาตรฐานทางการแพทย์ ตามจำนวนเงินที่ต้องจ่ายจริง แต่ไม่เกินวงเงินดังกล่าวข้างต้น ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อซื้อประกันภัยผ่านทางเว็บไซต์ https://covid19.tgia.org ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่ซื้อประกันภัยผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวจะได้รับความสะดวกรวดเร็วในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานการซื้อประกันภัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย โดยเจ้าหน้าที่สามารถตรวจสอบการซื้อประกันภัยผ่านเว็บไซต์ได้ทันที
"การจัดทำประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทยในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กล่าวไปข้างต้น เป็นการนำระบบการประกันภัยเข้ามาช่วยบริหารความเสี่ยงเพื่อรองรับนโยบายภาครัฐ สร้างความสะดวกและความมั่นใจให้กับชาวต่างชาติที่ประสงค์จะเดินทางเข้ามายังประเทศไทย ช่วยเพิ่มเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจของประเทศจากการจับจ่ายใช้สอยของชาวต่างชาติ ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาวะเศรษฐกิจไทยโดยรวม สมาคมประกันวินาศภัยไทยในฐานะตัวแทนของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยไทยถือเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนนโยบายของภาครัฐในเรื่องนี้" นายกี่เดช กล่าวในตอนท้าย
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมกิจกรรม คปภ. ปลุกพลังนักบิดฯ
15 พฤศจิกายน 2566 กิจกรรมส่วนกลาง