สมาคมประกันวินาศภัยไทย เริ่มจ่ายเคลมประกันภัยนาข้าวแล้ว ยอดพุ่ง 555 ล้านบาท
25 กันยายน 2562 โครงการประกันภัยพืชผลสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร ตามโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือแล้ว รวม 2 ครั้ง จำนวน 555,736,021.40 บาท ครอบคลุมพื้นที่ 519,266.18 ไร่ เกษตรกรได้รับค่าสินไหมทดแทนแล้วจำนวน 88,503 คน โดยจังหวัดที่ได้รับความเสียหายสูงสุด คือ ขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย และเพชรบูรณ์ ตามลำดับ
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยโดยบริษัทประกันภัย จำนวน 24 บริษัท ได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร ในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 ซึ่งขณะนี้ สมาคมฯ ได้รับรายงานข้อมูลการรับประกันภัยในโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2562 ของทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ที่จะสิ้นสุดการรับประกันภัย ในวันที่ 15 ธันวาคม 2562 ปรากฏว่าการรับประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 27,994,612 ไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,379,542,020 บาท และการรับประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 2,431,976 ไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 30,598,581 บาท ซึ่งรวมการรับประกันภัยทั้งสองส่วน (Tier 1+Tier 2) มีพื้นที่เอาประกันภัยรวมทั้งสิ้น 30,426,588 ไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 2,410,140,601 บาท
จากสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง เดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ได้สร้างความเสียหายให้กับพื้นที่เพาะปลูกข้าวเป็นจำนวนมาก ผลผลิตทางเกษตรหลักอย่างข้าวนาปีในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก สมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี จึงได้เร่งประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร สรุปยอดข้อมูลความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยแล้งในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โดยมียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนไปแล้ว รวม 2 ครั้ง ( ข้อมูล ณ วันที่ 25 กันยายน 2562) จำนวน 555,736,021.40 บาท ครอบคลุมพื้นที่ 519,266.18 ไร่ ใน 8 จังหวัด รวมจำนวนเกษตรกร 88,503 คน โดยแยกเป็นการจ่ายค่าสินไหมทดแทน 2 ส่วน คือ การประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) จำนวน 532,550,288.06 บาท และการประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) จำนวน 23,185,733.34 บาท โดยจังหวัดที่ได้รับค่าสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ เชียงราย และเพชรบูรณ์ ตามลำดับ ซึ่งสมาคมฯ ได้มีการโอนเงินค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายอานนท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการประกันภัยข้าวนาปี เกิดขึ้นเนื่องมาจากรัฐบาลมีมาตรการบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในกรณีที่ได้รับความเสียหายจากภัยพิบัติ โดยได้เริ่มโครงการฯ มาตั้งแต่ปีการผลิต 2554 จนถึงปัจจุบัน เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรได้เข้าถึงระบบการประกันภัยพืชผล (Agriculture Insurance) และตระหนักถึงประโยชน์ของการนำเอาระบบประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โครงการประกันภัยข้าวนาปี เริ่มต้นจากการมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี 2554 เพียง 1.06 ล้านไร่ (ร้อยละ 1.69 ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ) จนกระทั่งปี 2561 มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 27.59 ล้านไร่ (ร้อยละ 51.24 ของพื้นที่เพาะปลูกทั่วประเทศ) มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากค่าสินไหมทดแทนไปแล้วทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มโครงการฯ ปี 2554 จนถึง ปี 2561 (รวม 8 ปี) เป็นจำนวนเงินกว่า 5,930 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 11 มีนาคม 2562) จึงถือว่าโครงการประกันภัยข้าวนาปีนั้น สามารถช่วยรัฐประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง สมาคมฯ ได้มีการพัฒนาระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรโดยการเชื่อมข้อมูลการทำประกันภัยข้าวนาปี กับ ธ.ก.ส. และการขึ้นทะเบียนเกษตรกร พร้อมการประเมินความเสียหายรายแปลงในพื้นที่ที่รัฐประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ กับกรมส่งเสริมการเกษตร ทำให้สมาคมฯ สามารถดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ให้กับเกษตรกรได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว สร้างความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการได้เป็นอย่างดีมาตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา
สำหรับผลกระทบจากอิทธิพลพายุโซนร้อนโพดุล และพายุโซนร้อนคาจิกิ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชน เกษตรกรและพื้นที่การปลูกข้าวได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมากในหลายพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ในขณะนี้ สมาคมฯ มีความห่วงใยต่อผู้ประสบภัยน้ำท่วมและได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยการประสานงานกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการสรุปยอดความเสียหาย และพร้อมจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากภัยพิบัติในครั้งนี้อย่างรวดเร็วต่อไป นายอานนท์กล่าว
อนึ่ง โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2562 โดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ร่วมกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยบริษัทประกันภัย จำนวน 24 บริษัท ได้แก่ 1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) 2. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท จรัญประกันภัย จำกัด (มหาชน) 4. บริษัท เจพีประกันภัย จำกัด (มหาชน) 5. บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) 6. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 7. บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) 8. บริษัท ไทยพัฒนาประกันภัย จำกัด (มหาชน) 9. บริษัท ไทยไพบูลย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 10. บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) 11. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) 12. บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) 13. บริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน) 14. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) 15. บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) 16. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย 17. บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) 18. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) 19. บริษัท ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย จำกัด (มหาชน) (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันภัย จำกัด (มหาชน)) 20. บริษัท สยามซิตี้ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 21. บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) 22. บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) 23. บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) 24. บริษัท แอลเอ็มจีประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในการเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยงภัยธรรมชาติด้านการเพาะปลูกให้กับเกษตรกร ได้ร่วมกันขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวนาปี ซึ่งในปีนี้ได้มีการพัฒนาให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยและสามารถซื้อหรือทำประกันภัยเพิ่ม เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองมากขึ้น และมีการเพิ่มความคุ้มครอง “ภัยช้างป่า” อีก 1 ภัย จากเดิมที่ครอบคลุม 7 ภัย ได้แก่ ภัยจากน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และภัยแมลงศัตรูพืชหรือโรคระบาด และแบ่งการรับประกันภัยเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การรับประกันภัยขั้นพื้นฐาน (Tier 1) ค่าเบี้ยประกันภัย 85 บาทต่อไร่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ (ซึ่งเบี้ยประกันภัยลดลงจากโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 ที่มีอัตราเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่) โดยมีวงเงินคุ้มครองพื้นฐาน 1,260 บาทต่อไร่ ส่วนภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 630 บาทต่อไร่ และการรับประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) ค่าเบี้ยประกันภัยตามพื้นที่ความเสี่ยงภัย ถ้าเป็นพื้นที่สีแดง มีความเสี่ยงภัยสูง 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส พัทลุง จ่ายเบี้ยประกันภัย 25 บาทต่อไร่ พื้นที่สีเหลือง มีความเสี่ยงภัยปานกลาง 17 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครราชสีมา นครสวรรค์ นนทบุรี บึงกาฬ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด ลพบุรี สกลนคร สงขลา สระแก้ว สุโขทัย อ่างทอง อุตรดิตถ์ จ่ายเบี้ยประกันภัย 15 บาทต่อไร่ และพื้นที่สีเขียว 56 จังหวัดที่เหลือจ่ายเบี้ยประกันภัย 5 บาทต่อไร่ โดยมีวงเงินคุ้มครองส่วนเพิ่ม 240 บาทต่อไร่ และภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด 120 บาทต่อไร่ ดังนั้นเกษตรกรที่ทำประกันภัยทั้ง Tier 1 และ Tier 2 ในคราวเดียวกัน จะได้รับความคุ้มครองรวม 1,500 บาทต่อไร่ และ 750 บาทต่อไร่ จากภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
ลงพื้นที่พบเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี
18 มิถุนายน 2562 โครงการประกันภัยพืชผล