ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยถึงสภาวะธุรกิจประกันภัยช่วงไตรมาสแรก (มกราคม – มีนาคม 2559) ว่า มีอัตราการเติบโตในแดนบวก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อภาคอุตสาหกรรมประกันภัยไทย โดยไตรมาสแรกมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 192,999 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 7.64 ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 1/2559 ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 3.2 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 4/2558 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากการขยายตัวทั้งในด้านการผลิต และด้านการใช้จ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุปโภคบริโภคของทั้งภาครัฐ และเอกชน การลงทุน รวมถึงการส่งออกก็ล้วนแล้วแต่ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น
โดยภาคธุรกิจประกันชีวิต มีเบี้ยประกันภัยรับรวมในไตรมาสแรกของปี 2559 จำนวน 140,340 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.06 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 102,536 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 9.20 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รองลงมาเป็นประเภทกลุ่ม จำนวน 10,959 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 32.31 ตามด้วยประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 1,702 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.31 และประเภทอุบัติเหตุ จำนวน 1,289 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.24 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีเบี้ยประกันภัยรับจากสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ จำนวนทั้งสิ้น 16,212 ล้านบาท เติบโตในอัตราเร่งที่ร้อยละ 58.89 สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจเกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น
ในขณะที่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 52,659 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 0.69 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 30,944 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.67 ซึ่งแบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคบังคับ จำนวน 4,311 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.24 และจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 26,633 ล้านบาท ขยายตัวที่ร้อยละ 1.57 รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 17,909 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.44 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 2,357 ล้านบาท หดตัวลดลงร้อยละ 8.81 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 1,449 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.20
ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 ธุรกิจประกันภัยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2,993,369 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.02 เป็นสินทรัพย์ลงทุนทั้งสิ้น จำนวน 2,677,412 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.197 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแบ่งเป็นสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 2,364,724 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 93.51 ของสินทรัพย์รวมธุรกิจประกันชีวิต ซึ่งสินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นฉัน้ มีจำนวนสูงสุดที่ 1,973,856 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 83.47 ของสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันชีวิต ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.90 และเงินฝาก 48,294 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.04 ซึ่งหากพิจารณาอัตราส่วนความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยของธุรกิจประกันชีวิต ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 อยู่ที่ร้อยละ 128.92 แสดงให้เห็นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคงและมีสินทรัพย์ลงทุนเพียงพอต่อหนี้สินผู้เอาประกันภัย
ด้านสินทรัพย์ลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวน 312,688 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 67.33 ของสินทรัพย์รวมธุรกิจประกันวินาศภัย ทั้งนี้สินทรัพย์ลงทุนส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยลงทุนในเงินฝากธนาคารสูงสุดจำนวน 104,522 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 33.43 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.87 และลงทุนในพันธบัตร ตั๋วเงิน หุ้นฉัน้ จำนวน 93,949 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.05 โดยเมื่อพิจารณาเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องของธุรกิจประกันวินาศภัย พบว่า ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 มีสินทรัพย์สภาพคล่องรวมทั้งสิ้น 309,649 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 6.05
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ปัจจัยที่จะสนับสนุนบทบาทธุรกิจประกันภัยให้เป็นหนึ่งในเสาหลักเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนได้นั้น เสถียรภาพของธุรกิจประกันภัยและการดำเนินธุรกิจบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลที่ดีถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและหันมาใช้ระบบประกันภัยในการบริหารความเสี่ยงมากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจประกันเข้าไปนั่งอยู่ในใจของประชาชนอย่างยั่งยืน สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน บริษัทประกันภัย-ชีวิตทุกบริษัท และเครือข่ายพันธมิตรของสำนักงานคปภ.ร่วมกันจัดงาน“สัปดาห์ประกันภัย” ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน 2559 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ภาคธุรกิจประกันภัยเติบโตเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี รวมทั้งยังเป็นเวทีที่จะทำให้ประชาชนคนไทยในทุกระดับสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยในราคาถูกที่เปี่ยมล้นไปด้วยคุณภาพอีกด้วย
รับสมัครผู้จัดการกองทุนประกันวินาศภัย
28 มีนาคม 2561 ทั่วไป