ข่าวสารและกิจกรรม

ชาวนาซื้อประกันภัยนาข้าว8.12แสนไร่ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ

ชาวนาซื้อประกันภัยนาข้าว8.12แสนไร่ ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยพิบัติ

22 กันยายน 2557 ทั่วไป

          นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยผลการดำเนินงานโครงการประกันภัยข้าวนาปีฤดูกาลผลิต 2557 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการแล้ว 54,236 ราย พื้นที่นาข้าว 812,396 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 54.28% ของเป้าหมายของโครงการ 1.5 ล้านไร่ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าร่วมโครงการถึง 73% ของพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่เอาประกัน

          ธ.ก.ส.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรถึงประโยชน์ที่จะได้รับ โดยเฉพาะการได้รับเงินชดเชยความเสียหายเมื่อประสบภัยธรรมชาติจากรัฐบาลไร่ละ 1,113 บาท และเงินชดเชยจากการประกันภัยตามโครงการอีกไร่ละ 1,111 บาท รวมเป็นเงินชดเชยไร่ละ 2,224 บาท โดยโครงการดังกล่าวจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2557

          เงื่อนไขโครงการประกันภัยนาข้าวจะแบ่งเบี้ยประกันตามลำดับความเสี่ยงของพื้นที่เป็น 5 ระดับคือ พื้นที่เสี่ยงต่ำที่สุด พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก พื้นที่เสี่ยงต่ำ พื้นที่เสี่ยงปานกลาง และพื้นที่เสี่ยงสูง โดยคิดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยรวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์อยู่ที่ 129.47 บาท/ไร่ 247.17 บาท/ไร่ 376.64 บาท/ไร่ 472.94 บาท/ไร่ และ 510.39 บาท/ไร่ ตามลำดับ โดยเกษตรกรจะจ่ายค่าเบี้ยประกันในอัตราเพียง 60 บาท/ไร่ 70 บาท/ไร่ 80 บาท/ไร่ 90 บาท/ไร่ และ 100 บาท/ไร่ ที่เหลือรัฐจะเป็นผู้อุดหนุนค่าเบี้ยประกันแทนเกษตรกรในอัตรา 69.47 บาท/ไร่ 177.17 บาท/ไร่/296.64 บาท/ไร่ 382.94 บาท/ไร่ และ 410.39 บาท/ไร่ ตามลำดับ

          นอกจากนี้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการที่เป็นประโยชน์ ธ.ก.ส.จะร่วมอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าอีกไร่ละ 10 บาท ทำให้เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 50-90 บาท/ไร่ ซึ่งการประกันภัยจะคุ้มครองความเสียหายตามหลักเกณฑ์การประเมินความเสียหายของภาครัฐที่เกิดจาก น้ำท่วม ภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุ อากาศหนาว ลูกเห็บและไฟไหม้ โดยได้รับชดเชย 1,111 บาทต่อไร่ ยกเว้นศัตรูพืชและโรคระบาด ได้รับการชดเชย 555 บาทต่อไร่

          “ภัยธรรมชาติรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปีการที่เกษตรกรได้รับเงินชดเชยจากภาครัฐเมื่อรวมกับการทำประกันภัย นอกจากช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดภาระหนี้สินแล้ว เกษตรกรยังมีเงินทุนเพียงพอสำหรับทำการผลิตรอบใหม่ได้โดยไม่ต้องกู้ยืมเพิ่มขึ้น ถือเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง” นายลักษณ์ กล่าว

ที่มา : หนังสือพิมพ์เเนวหน้า จันทร์ที่ 22 กันยายน 2557