คปภ. ประสานประกันภัยเร่งจ่ายค่าสินไหมทดแทนเยียวยา เด็กที่เสียชีวิตและบาดเจ็บที่หนองบัวลำภู
17 มิถุนายน 2557 ทั่วไปนายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 เกิดอุบัติเหตุรถยนต์นั่งสองตอน หมายเลขทะเบียน กข 9422 หนองบัวลำภู เฉี่ยวชนนักเรียนขณะเดินอยู่ข้างถนน และเสียหลักไปชนรถยนต์บริเวณใกล้เคียงอีก 3 คัน หน้าโรงเรียนหนองบัวพิทยาคาร อำเภอเมือง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเหตุให้มีเด็กนักเรียนเสียชีวิต 4 ราย และบาดเจ็บ 10 ราย นั้น
สำนักงาน คปภ. ได้ประสานสำนักงาน คปภ. จังหวัดหนองบัวลำภู ทราบว่ารถยนต์คันดังกล่าว ได้จัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และทำประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กับ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ประสบภัยจะได้รับความคุ้มครองจากบริษัทประกันภัย ดังนี้
1. ผู้ประสบภัยเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร ทายาทสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ดังนี้
1.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) 200,000 บาทต่อคน
1.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) กรณีไม่มีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 100,000 บาทต่อคน หรือกรณีมีผู้ขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย ขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 300,000 บาทต่อคน
2. ผู้ประสบภัยที่ได้รับบาดเจ็บสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ได้ดังนี้
2.1 ความคุ้มครองจากการประกันภัยภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาทต่อคน และค่าชดเชยรายวัน สำหรับผู้ประสบภัยที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล วันละ 200 บาท สูงสุดไม่เกิน 20 วัน
2.2 ความคุ้มครองจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1) ได้รับค่ารักษาพยาบาลตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินความคุ้มครองที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจกับพ่อและแม่ของเด็กที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ซึ่งทราบว่าเจ้าหน้าที่บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ประสานโรงพยาบาลที่รับรักษาพยาบาลผู้บาดเจ็บเพื่ออำนวยความสะดวกด้านค่ารักษาพยาบาล และสำนักงาน คปภ. จะเร่งประสานบริษัทประกันภัยเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับทายาทโดยเร็ว อุบัติเหตุครั้งนี้ระบบประกันภัยมีส่วนรองรับความเสียหายที่เกิดขึ้น จึงขอให้ท่านเจ้าของรถให้ตระหนักและเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยรถยนต์ ทั้งการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และการประกันภัยภาคสมัครใจ เพราะการทำประกันภัยเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
ที่มา : http://www.oic.or.th อังคารที่ 17 มิถุนายน 2557
เมืองไทยผุดประกันจักรยาน เอาใจนักปั่นเจาะขายทุกช่องทาง
18 สิงหาคม 2557 ทั่วไป