นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เข้าร่วมงานแถลงข่าวการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (1 ปี) โดยมีนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการแถลงข่าว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 ณ ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร ชั้น 2 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี
สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และเมดิคัล ฮับ ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2562 เห็นชอบหลักการให้เพิ่มเติมหลักเกณฑ์การทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (1 ปี) ให้มีการประกันสุขภาพของไทยคุ้มครองตลอดระยะเวลาที่พำนักในราชอาณาจักร โดยมีจำนวนเงินเอาประกันภัยสำหรับค่ารักษาพยาบาลในกรณีผู้ป่วยนอกไม่น้อยกว่า 40,000 บาท กรณีผู้ป่วยในไม่น้อยกว่า 400,000 บาท โดยซื้อกรมธรรม์แบบออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ longstay.tgia.org สำหรับผู้ที่ซื้อประกันสุขภาพของบริษัทต่างประเทศ จะต้องมีจำนวนเงินเอาประกันภัยไม่น้อยกว่าการทำประกันสุขภาพของไทยตามที่กำหนดด้วยเช่นกัน โดยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม 2562 นำร่องในกลุ่มผู้สูงอายุต่างชาติอายุ 50 ปีขึ้นไป ทุกรายที่เข้ามาพำนักในประเทศไทยระยะยาวไม่เกิน 1 ปี เนื่องจากมีความเสี่ยงอาจเกิดปัญหาสุขภาพ ทำให้ได้รับความคุ้มครองตลอดเวลาที่อยู่ในไทย ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และกรมการกงสุล ปี 2562 มีผู้มาขอรับการตรวจลงตราวีซ่าประเภทนี้ 80,950 ราย
ในส่วนของสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยคณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการจัดเตรียมช่องทางสำหรับซื้อประกันสุขภาพในรูปแบบออนไลน์ สมาคมฯ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ https://longstay.tgia.org ขึ้น สำหรับซื้อกรมธรรม์ประกันสุขภาพ และจัดทำหลักฐานแสดงการประกันภัย พร้อมทั้งได้เชิญชวนบริษัทสมาชิกสมาคมฯ เข้าร่วมโครงการทำประกันสุขภาพสำหรับคนต่างด้าวผู้ขอรับการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว Non-Immigrant Visa รหัส O-A (ระยะ 1 ปี) โดยมีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วม จำนวน 14 บริษัท ประกอบด้วย
1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท ไทยประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท แปซิฟิค ครอส ประกันสุขภาพ จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท เอ็ทน่าประกันสุขภาพ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
12. บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน)
13. บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด มหาชน
สัมมนา เจาะลึกข้อยกเว้นประกันภัยสุขภาพ
21 กุมภาพันธ์ 2562 คณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุเเละสุขภาพ