นายอานนท์ วังวสุ เลขาธิการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากในปัจจุบันผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของรถซึ่งเกิดอุบัติเหตุชนกับรถที่ทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้ และรถที่ทำประกันภัยเป็นฝ่ายผิด สามารถใช้สิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทผู้รับประกันภัยรถที่เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมาย ทั้งค่าเสียหายในการซ่อมแซมรถให้กลับสู่สภาพเดิม และค่าขาดประโยชน์จากการที่ไม่มีรถใช้ระหว่างการซ่อมแซมจนกว่ารถจะซ่อมเสร็จ และใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งในการชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถดังกล่าวยังไม่มีการกำหนดอัตราการชดใช้ที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนในการชดใช้ค่าเสียหายว่า ควรชดใช้ในอัตราเท่าใดจึงจะเหมาะสม เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
สมาคมประกันวินาศไทย ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นซึ่งอาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อประชาชนผู้ได้รับความเสียหายจึงได้มีการหารือและพิจารณาร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า ควรจะมีการกำหนดอัตราค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถเป็นมาตรฐานเบื้องต้นเพื่อให้บริษัทประกันวินาศภัยทุกแห่งปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และเป็นการรับรองสิทธิของประชาชนผู้ได้รับความเสียหายที่จะได้รับการชดเชย ความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมโดยทั่วถึง ภายใต้มาตรฐานเดียวกันทุกรายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมย์ของผู้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในการทำหน้าที่บรรเทาความเสียหายจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนชาวไทย โดยการชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถมีหลักเกณฑ์ในการชดใช้ดังต่อไปนี้
1. ผู้มีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถ คือ เจ้าของรถคู่กรณีซึ่งเกิดเหตุชนกับรถที่ทำประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ และรถที่ทำประกันภัยเป็นฝ่ายผิด
2. รถยนต์ส่วนบุคคล ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง ได้รับการชดใช้ในอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 500 บาท
3. รถยนต์รับจ้างสาธารณะ ขนาดไม่เกิน 7 ที่นั่ง ได้รับการชดใช้ในอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 700 บาท
4. รถยนต์ขนาดเกินกว่า 7 ที่นั่ง ได้รับการชดใช้ในอัตราไม่น้อยกว่าวันละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ คาดว่าสำนักงาน คปภ. จะออกคำสั่งนายทะเบียนเพื่อปรับปรุงเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ให้มีการชดใช้ค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถดังกล่าว ภายในต้นปี 2562
Cyberspace Challenges and Opportunities
15 สิงหาคม 2562 กิจกรรมส่วนกลาง