ด้วยกระทรวงการคลังได้มีหนังสือที่ สร.กค.686 ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 1196/2560 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2560 เรื่อง เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และคำสั่งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยที่ 5/2560 เรื่องแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2560 นั้น สำนักงาน คปภ.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องนี้ ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่างๆเพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบดังนี้
1. บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เดิมคือ บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ซึ่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกคำสั่งนายทะเบียน ที่ 21/2558 ลงวันที่ 1 กันยายน 2558 สั่งให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว และให้บริษัทเร่งแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่กำหนดได้ นายทะเบียนโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ดคปภ.) จึงนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัทกมลประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในระหว่างนั้นบริษัทได้ยื่นคำร้องขอความเป็นธรรมเพื่อให้มีการทบทวนคำสั่ง โดยแสดงหลักฐานการโอนเงินเข้ามาในบริษัททำให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ซึ่งสำนักงานคปภ.ได้มีการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เมื่อพบว่าอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไปตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมีความคืบหน้าในการดำเนินการตามเงื่อนไขอื่นๆ นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของ คณะกรรมการ คปภ. จึงอนุญาตให้บริษัทเปิดดำเนินการรับประกันวินาศภัยได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 31 พฤษภาคม 2559 ภายใต้เงื่อนไขที่สำนักงาน คปภ. ต้องติดตามการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิด ต่อมาบริษัทได้มีการเปลี่ยนเป็นชื่อเป็น บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
2. ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ติดตามการดำเนินงานของบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) มาโดยตลอด ต่อมาเมื่อปรากฏข้อสงสัยว่าบริษัทอาจมีการทำธุรกรรมที่ฝ่าฝืนกฎหมาย สำนักงาน คปภ.จึงได้เข้าตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานในเชิงลึกในทันทีจนพบว่า บริษัทมีการดำเนินการที่ฝ่าฝืนกฎหมาย ดำรงสินทรัพย์สำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการถอนเงิน ในบัญชีธนาคารของบริษัทให้กับกรรมการและบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของบริษัทมีการบันทึกบัญชีไม่ถูกต้องตรงต่อความเป็นจริง ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินของบริษัท ทำให้รายงานทางการเงินของบริษัทขาดความน่าเชื่อถือ อีกทั้งบริษัทค้างชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบ ซึ่งปัจจุบันสายกฎหมายและคดีอยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับการฝ่าฝืนกฎหมายดังกล่าว
3. ด้วยเหตุผลข้างต้นนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม สั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน และให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นผลให้บริษัทไม่สามารถรับประกันวินาศภัยและถูกระงับการทำธุรกรรมทั้งหมดในช่วงเวลาที่กำหนด โดยสำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่บริษัทต้องคำสั่งหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและอยู่ระหว่างการแก้ไขปัญหาตามคำสั่งฯ จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่รวดเร็วในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัย โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทแก้ไขประเด็นปัญหาต่างๆ เช่น การจัดหาเงินทุน การเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อภาระผูกผันตามสัญญาประกันภัยและให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด ปรับปรุงการบันทึกบัญชีให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง จัดให้มีระบบควบคุมภายใน การสอบทาน และการคานอำนาจของคณะกรรมการบริษัท จัดให้มีแผนธุรกิจ แผนบริหารความเสี่ยง และแผนการดำเนินงานที่นายทะเบียนให้ความเห็นชอบ เป็นต้น ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 กรกฎาคม 2560
4. นอกจากนี้เมื่อบริษัทมีหนังสือขอขยายระยะเวลา นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ยังได้ให้โอกาสแก่บริษัทโดยอนุญาตให้ขยายเวลาแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงานจนถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ตามที่บริษัทร้องขอ โดยกำชับว่า หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขภายในเวลาที่ได้รับการขยาย สำนักงาน คปภ. จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัด แต่เมื่อครบกำหนดเวลาที่ได้รับการอนุญาตให้ขยาย บริษัทยังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดได้ครบถ้วน ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนขั้นต่ำไว้ที่ร้อยละ 100 โดยจากการตรวจสอบเมื่อครบเวลาตามที่มีการอนุญาตให้ขยาย บริษัทไม่สามารถแสดงหลักฐานยืนยันว่า มีการนำเงินเข้าบัญชีของบริษัทให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งยังไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่นๆ ได้ครบถ้วน ดังนั้น หากให้บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน สำนักงาน คปภ. ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการ คปภ. ได้นำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาใช้อำนาจตามความในมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยได้ครบถ้วน ได้แก่ งบการเงินของบริษัทยังไม่ผ่านการรับรองจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยผู้สอบบัญชีไม่อาจให้ข้อสรุปผลการสอบทาน เนื่องจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการดำเนินงานต่อเนื่องของกิจการ และมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน ณ วันที่ 30 เมษายน 2560 จำนวนร้อยละ -312.92 การจัดทำแผนธุรกิจและแผนบริหารความเสี่ยงไม่มีความชัดเจน และการประมาณการฐานะทางการเงินยังไม่สอดคล้องกับธุรกิจ บริษัทไม่สามารถดำรงทรัพย์สินสำหรับเงินสำรองสำหรับเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ตกเป็นรายได้ของบริษัท เงินสำรองค่าสินไหมทดแทน และเงินสำรองอื่นของบริษัทประกันวินาศภัย ตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์ไว้สำหรับหนี้สินและภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัย ตามมาตรา 27/4 ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด และไม่ดำเนินการชำระค่าปรับตามมติคณะกรรมการเปรียบเทียบให้ครบถ้วน และปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่าบริษัทดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ส่งผลให้บริษัทยังคงมีปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงาน ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัยได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2560
6. เนื่องจากการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) เป็นเพราะปัญหาฐานะการเงินและปัญหาการจัดการภายในของบริษัทนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของบริษัทประกันวินาศภัยอื่น หรือธุรกิจประกันภัยในภาพรวมแต่อย่างใด
7. สำหรับแนวทางการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยและประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 23 บริษัท ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ โดยขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัย ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยในแบบเดิม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี กับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งบริษัทจะขยายความคุ้มครองให้กับผู้เอาประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์ประกันภัยที่ทำไว้กับบริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยไม่มีการคิดเบี้ยประกันภัยเพิ่ม ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือจากผู้ชำระบัญชี หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัย นั้นด้วย สำหรับกรณีที่กรมธรรม์มีค่าเสียหายเกิดขึ้นแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายนั้นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยผู้ชำระบัญชีของบริษัทที่รัฐมนตรีมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต โดยสำนักงาน คปภ. ในทุกพื้นที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานและอำนวยความสะดวกแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชนเป็นเบื้องต้น
ทั้งนี้ รายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยสามารถดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186
8. ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และ/หรือกองทุนประกันวินาศภัย ภายในสองเดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัยบัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจมายื่นต่อผู้ชำระบัญชีของ บริษัท สัจจะประกันภัย จำกัด (มหาชน) และกองทุนประกันวินาศภัยตามสถานที่ดังต่อไปนี้
ส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้
(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
ส่วนภูมิภาค ยื่นที่ สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ
9. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่ และภายในกำหนดเวลาที่ระบุข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ
10. ทั้งนี้ กองทุนประกันวินาศภัยเป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทถูกเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย โดยเจ้าหนี้ฯ มีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัยจากกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งเมื่อรวมกับจำนวนที่ได้รับการเฉลี่ยจากหลักทรัพย์ประกันและเงินสำรองที่วางไว้กับนายทะเบียนแล้ว ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย
กรณีมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186
ซิกน่าประกันภัยจัดแคมเปญ “100 MustDoThingsinLife”
02 กรกฎาคม 2557 ทั่วไป