นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ตามมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2560 ได้อนุมัติวงเงินงบประมาณจำนวน 1,841 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 และกำหนดพื้นที่เป้าหมายในการรับประกันภัยไว้ที่ 25-30 ล้านไร่ โดยในปีนี้ได้มีการปรับลดอัตราค่าเบี้ยประกันภัยลงจากปีก่อน 100 บาท/ไร่ เหลือเพียง 90 บาท/ไร่ ลดลงร้อยละ 10 แต่ได้เพิ่มวงเงินความคุ้มครองมากขึ้น จากปีก่อน 1,111 บาท/ไร่ เป็น 1,260 บาท/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.41 โดยให้คุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งหมด 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บและไฟไหม้ โดยจะต้องอยู่ในพื้นที่ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ สำหรับกรณีเกิดความเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 555 บาท/ไร่ เป็น 630 บาท/ไร่
สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปี 2560 นี้ รัฐบาลให้การอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรในอัตรา 54 บาทต่อไร่ และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ในอัตรา 36 บาทต่อไร่ ยกเว้น เกษตรกรที่ไม่ใช่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. เกษตรกรต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเอง ในอัตรา 36 บาท/ไร่ นอกจากนี้ภาครัฐยังช่วยอุดหนุนค่าภาษีมูลค่าเพิ่มและค่าอากรแสตมป์ทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการโดยซื้อกรมธรรม์ได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศได้ ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 31 สิงหาคม 2560 สำหรับทุกภาค ยกเว้นพื้นที่ภาคใต้ จะสิ้นสุดการรับประกันภัยวันที่ 15 ธันวาคม 2560
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่าเพิ่มเติมว่า ขณะนี้บริษัทสมาชิกของสมาคมฯ มีความพร้อมในการเข้าร่วมรับประกันภัยในโครงการดังกล่าวแล้วทั้งหมด 24 บริษัท ได้แก่ 1.บมจ.กรุงเทพประกันภัย 2.บมจ.กรุงไทยพานิชประกันภัย 3.บมจ.เจนเนอราลี่ประกันภัย (ไทยแลนด์) 4.บมจ.ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) 5.บมจ.ทิพยประกันภัย 6.บมจ.เทเวศประกันภัย 7.บมจ.ไทยพัฒนาประกันภัย 8.บมจ.ไทยไพบูลย์ประกันภัย 9.บมจ.ไทยศรีประกันภัย 10.บมจ.ไทยเศรษฐกิจประกันภัย 11.บมจ.นวกิจประกันภัย 12.บมจ.นำสินประกันภัย 13.บมจ.บางกอกสหประกันภัย 14.บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ 15.บมจ.ฟอลคอนประกันภัย 16.บจ.มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ สาขาประเทศไทย 17.บมจ.เมืองไทยประกันภัย 18.บมจ.วิริยะประกันภัย 19.บมจ.สยามซิตี้ประกันภัย 20.บมจ.สินมั่นคงประกันภัย 21.บมจ.ศรีอยุธยา เจนเนอรัล ประกันภัย 22.บมจ.อาคเนย์ประกันภัย 23.บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 และ 24.บมจ.แอกซ่าประกันภัย ซึ่งสมาคมฯ ได้ส่งรายชื่อบริษัทประกันภัยดังกล่าวให้กับสำนักงาน คปภ. รับรองฐานะทางการเงินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 ที่ผ่านมาปรากฏว่า มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.57 ล้านราย มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 27.17 ล้านไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ 2,286,223,497,75 บาท และมีจำนวนความเสียหาย ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2560 จำนวน 741,088 ไร่ รวมทั้งสิ้น 53 จังหวัด มียอดการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกร 78,880 คน คิดเป็นค่าสินไหมทดแทนรวม 812,884,808 บาท ซึ่งแบ่งเป็นความเสียหายที่เกิดจากอุทกภัย 70.94% ภัยแล้ง 27.77% และศัตรูพืชระบาด 1.29% โดยจังหวัดที่มียอดการจ่ายสินไหมทดแทนสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดร้อยเอ็ด คิดเป็น 29.34% ของยอดค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด
พร้อมกันนี้ สมาคมฯ ได้ร่วมกับสำนักงาน คปภ. เดินสายลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการที่ผ่านมา พร้อมกับจัดอบรมโครงการ “อบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) สำหรับการประกันภัยข้าวนาปี ประจำปี 2560” รวม 9 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น นครสวรรค์ สุโขทัย ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด สกลนคร และจะปิดการอบรมสุดท้ายที่จังหวัดสงขลา ทั้งนี้ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกับตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายอำเภอ อบต. ธ.ก.ส. คปภ.จังหวัด รวมถึงประชาสัมพันธ์จังหวัดและสื่อมวลชนท้องถิ่น เป็นต้น เพื่อนำความรู้ด้านประกันภัยไปถ่ายทอดกับเกษตรกรในพื้นที่ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัย และประโยชน์ของการนำเอาระบบการประกันภัยมาเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง เพื่อบรรเทาความเสียหายจากภัยพิบัติต่าง ๆ และเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับอาชีพเกษตรกรผู้ปลูกข้าวต่อไป
--------------------------------------
ฝ่ายสื่อสารองค์กร โทร. 0 2256 6032-8 ต่อ 411, 413
ประชุมหารือการดำเนินโครงการ ธนาคารน้ำใต้ดิน
05 กุมภาพันธ์ 2563 โครงการประกันภัยพืชผล