บอร์ดคปภ. ไฟเขียวหลักการออกกติกากำกับดูแลการขายประกันชีวิต-วินาศภัย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ “สุทธิพล” ย้ำจำเป็นต้องเร่งการออกประกาศขายประกันทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อปิดช่องว่างกฎหมาย มิให้ประชาชนถูกเอาเปรียบ - เล็งมอบเป็นของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ครั้งที่ 12/2559 ในการประชุมสัญจร ณ จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2559 มีมติเห็นชอบในหลักการการออกกติกากำกับดูแลวิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของการประกันชีวิตและการประกันวินาศภัย ตามแนวทางที่ สำนักงานคปภ. นำเสนอ โดยให้ข้อสังเกตเพื่อให้สำนักงานคปภ.นำไปปรับปรุงและรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากหน่วยงานภายนอก เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แล้วเสนอให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษากฎหมายฯพิจารณากลั่นกรองเพื่อให้เกิดความรอบคอบก่อนเสนอต่อที่ประชุม คปภ.ในการประชุมครั้งต่อไป
ดร. สุทธิพล กล่าวว่า ปัจจุบันในยุค FinTech ที่เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดดทำให้ภาคธุรกิจประกันภัยหันมาใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลลูกค้า พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และใช้เป็นวิธีการในการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อลดค่าใช้จ่าย ขณะที่ประกาศของ คปภ.ที่ใช้ในการกำกับดูแลการขายกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกในปี 2551 และ 2552 ยังมุ่งการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยแบบดั้งเดิมที่อาศัยตัวบุคคลและการพิสูจน์ตัวเอกสารเป็นหลัก ซึ่งยังไม่ครอบคลุมการกำกับดูแลโดยตรงในการทำธุรกรรมประกันภัยทางอิเล็กทรอนิกส์ ปัจจุบันแม้จะมีกฎหมายธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ก็เป็นการกำหนดกติกาครอบคลุมธุรกรรมทั่ว ๆ ไป โดยมิได้เน้นไปที่ธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะ ฉะนั้นหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไปก็อาจจะทำให้กระทบต่อประสิทธิภาพในการกำกับดูแลระบบประกันภัยยุคใหม่และอาจทำให้ประชาชนผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ คปภ.จะต้องมีกฎกติกาโดยเฉพาะเพื่อใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยออนไลน์
สำหรับร่างประกาศที่สำนักงาน คปภ.นำเสนอนี้จะทำให้ คปภ.สามารถวางหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจกรรมของบริษัทประกันภัยที่จะทำในรูปอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรทั้งกระบวนการตั้งแต่การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัย จนถึงการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ในการปฏิบัติตามร่างประกาศฯ โดยบริษัทสามารถเลือกที่จะนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ทั้งกระบวนการตั้งแต่การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัยจนถึงการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย หรือจะเลือกมาเฉพาะกิจกรรมที่บริษัทมีความพร้อม เช่น อาจนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เฉพาะในการออกกรมธรรม์ประกันภัยก็ได้
สาระสำคัญๆของร่างประกาศฯ อาทิเช่น การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยสามารถดำเนินการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นช่องทางการเสนอขายใหม่ ไม่มีการพึ่งพา ตัวแทนประกันภัย หรือนายหน้าประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถแสดงเจตนาขอทำประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์และทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยบริษัท นายหน้า หรือธนาคารที่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทเท่านั้นที่จะสามารถเสนอขายผ่านช่องทางนี้ได้ และแบบกรมธรรม์ประกันภัยต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ.
ในส่วนของการชำระเบี้ยประกันภัย หากทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้น และบริษัทต้องขอคำยืนยันการทำประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยภายใน 7 วัน หลังจากออกกรมธรรม์ประกันภัย รวมทั้งบริษัทต้องให้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยภายใน 15 วัน (กรณีประกันวินาศภัยมีข้อยกเว้นสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยเดินทาง เป็นต้น)
การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ประกอบการขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย หรือธนาคาร ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย หรือลดต้นทุนของบริษัทในระยะยาว เช่น การกรอกใบคำขอเอาประกันภัยโดยใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งรายละเอียดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และในส่วนการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยสามารถกระทำโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการรับเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ด้วย
นอกจากนี้ ในร่างประกาศฯ ยังได้ระบุมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ โดยกำหนดให้บริษัท นายหน้าประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธนาคาร ต้องมีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้ขอทำประกันภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
“สำนักงาน คปภ. จะรีบนำข้อสังเกตของบอร์ด คปภ. ไปพิจารณา พร้อมเชิญหน่วยงานภายนอกให้ความเห็นเพิ่มเติม อาทิเช่น ตัวแทนแบงค์ชาติและก.ล.ต. เพื่อรับฟังข้อเสนอแนะและเร่งปรับปรุงร่างประกาศฯ ดังกล่าวให้สมบูรณ์ที่สุด แล้วจะนำเสนอต่อบอร์ดคปภ.ตามขั้นตอนโดยเร็ว เพื่อเร่งคลอดประกาศกำกับดูแลการประกันชีวิต-วินาศภัย ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เป็นไปตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล และคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนโดยเร็ว โดยเรื่องนี้จะล่าช้าไม่ได้ เพราะธุรกิจเดินหน้าไปแล้ว ทั้งนี้ หากเป็นไปได้จะพยายามให้ร่างประกาศนี้ผ่านความเห็นชอบของบอร์ด คปภ. ก่อนสิ้นปีนี้เพื่อมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2560 แก่ประชาชน” ดร. สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย
ที่มา: สำนักงาน คปภ.
The Asia InsurTech Summit 2018
07 กุมภาพันธ์ 2561 ทั่วไป