นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผย ภาพรวมกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ของธุรกิจประกันภัย ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 มีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับทั้งสิ้น 624,204 กรมธรรม์ ซึ่งถือว่าใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านฉบับ
ทั้งนี้ ภาพรวมกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) จากบริษัทประกันภัย 24 บริษัท ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2558 มีกรมธรรม์ที่มีผลบังคับอยู่ จำนวนทั้งสิ้น 624,204 กรมธรรม์ คิดเป็นร้อยละ 62.42 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านฉบับ แยกเป็นของบริษัทประกันชีวิต 7 บริษัท จำนวน 59,162 กรมธรรม์ บริษัทประกันวินาศภัย 17 บริษัท จำนวน 469,200 กรมธรรม์ และกรมธรรม์ประกันภัย 200 จากบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการฯ ทั้งหมด 24 บริษัท มีจำนวนทั้งสิ้น 95,842 กรมธรรม์ เบี้ยประกันภัยรับจำนวน 19.17 ล้านบาท และมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนแล้วจำนวน 391 ราย ทุกรายมีการดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเรียบร้อยแล้วจำนวนทั้งสิ้น 8.32 ล้านบาท
จังหวัดที่มียอดการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย 200 สูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ และอุดรธานี ตามลำดับ โดยช่องทางการจำหน่ายสูงสุดได้แก่ตัวแทนบริษัทประกันภัย รองลงมาได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และไปรษณีย์ไทย
“ไตรมาสสุดท้ายของปี 2558 สำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการฯ ทั้ง 24 บริษัท ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้ประชาชนตระหนักและเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันภัย 200 ซึ่งจะทำให้ยอดการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”เลขาธิการ คปภ. กล่าว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า กรมธรรม์ประกันภัย 200 เป็นกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ให้ได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัยเพื่อแบ่งเบาภาระความเดือดร้อนของตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ ธุรกิจประกันภัยยังมีการพัฒนาการประกันภัยสำหรับรายย่อยประเภทอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล (PA) สำหรับรายย่อย การประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบประหยัด การประกันภัยท่องเที่ยวสุขใจสำหรับรายย่อย การประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา ประเภทสามัญ และการประกันภัยข้าวนาปี เป็นต้น ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ฝากเตือนผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัย 200 ขอให้ตรวจสอบวันหมดอายุกรมธรรม์ เพราะการต่ออายุในปีต่อไป หากผู้เอาประกันภัยต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยภายใน 30 วัน นับจากวันสิ้นสุดความคุ้มครอง จะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย แต่หากผู้เอาประกันภัยต่ออายุกรมธรรม์ประกันภัยภายหลังจาก 30 วัน นับจากวันสิ้นสุดความคุ้มครอง จะต้องเริ่มนับระยะเวลารอคอยใหม่ 120 วัน จึงจะได้รับความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th
www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 24 กันยายน 2558
คปภ.เผยประกันจ่ายสินไหมอุบัติเหตุปีใหม่กว่า 800 ล.
06 กุมภาพันธ์ 2558 ทั่วไปคปภ.ลุยปรับประกันภัยรถภาคบังคับ
03 กุมภาพันธ์ 2558 ทั่วไป