นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัยครึ่งแรกปี 2558 (ม.ค. - มิ.ย.) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 363,590 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน “แม้ว่าในไตรมาส 2 ปีนี้ เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง จากการหดตัวลงอย่างต่อเนื่องของการผลิตในภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรม แต่ภาคบริการต่างๆ ยังคงขยายตัว ส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยในครึ่งแรกของปีนี้ยังมีการเติบโต” เลขาธิการ คปภ.กล่าว
สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2558 เบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ 260,573 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 223,544 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.42 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่ม จำนวน 30,515 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.01 ตามด้วยประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 3,639 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.20 และประเภทอุบัติเหตุ จำนวน 2,875 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 103,017 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 1.26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันวินาศภัยที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 59,809 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.90 รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 34,910 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.68 ตามด้วยการประกันอัคคีภัย จำนวน 5,531 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.72 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 2,767 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.90
สำหรับยอดผู้ทำประกันภัยรายใหม่ช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีจำนวน 32,368,596 กรมธรรม์ขยายตัวร้อยละ 5.00 โดยกรมธรรม์ประกันชีวิต ขยายตัวร้อยละ 6.81 ส่งผลให้เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ธุรกิจประกันชีวิตมีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับใช้ 23.49 ล้านกรมธรรม์ ขยายตัวร้อยละ 5.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ต่อจำนวนประชากร อยู่ที่ร้อยละ 36.12 ส่วนกรมธรรม์ประกันวินาศภัยมีจำนวน 23,937,258 กรมธรรม์ขยายตัวร้อยละ 4.79 ส่งผลให้เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ธุรกิจประกันวินาศภัย มีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ 55.94 ล้านกรมธรรม์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 6.80 คิดเป็นอัตราผู้ถือกรมธรรม์ ร้อยละ 86.00
เลขาธิการ คปภ.กล่าวด้วยว่า สิ้นปี 2558 คาดว่าธุรกิจประกันภัยทั้งระบบจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.73 แบ่งเป็นการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิต ร้อยละ 5.66 และธุรกิจประกันวินาศภัย ขยายตัวร้อยละ 2.49
“เมื่อดูจากตัวเลขการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในครึ่งปีแรกร้อยละ 2.25 ประกอบกับมองว่าในช่วงครึ่งปีหลัง การกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของภาครัฐที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรง และเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะประชาชนในภาคเกษตร น่าจะช่วยให้กำลังซื้อในประเทศปรับตัวดีขึ้น จึงมองว่าภาพรวมของธุรกิจประกันภัยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวได้ แต่อาจไม่สูงนัก” เลขาธิการ คปภ. กล่าว
นายประเวช กล่าวถึง สินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันภัยว่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ธุรกิจประกันภัย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2,906,706 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.11 โดยเป็นสินทรัพย์ลงทุน จำนวน 2,622,483 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.69 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้ เป็นสินทรัพย์ของธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 2,439,236 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 16.31 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ลงทุน จำนวน 2,323,174 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 95.24 ของสินทรัพย์รวม โดยแบ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ พันธบัตร จำนวน 1,306,077 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 56.22 ของสินทรัพย์ลงทุนรวม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 13.21 ส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง คือ หุ้นทุน มีจำนวน 178,910 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.70 โดยมีอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 17.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ อัตราส่วนความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยของธุรกิจประกันชีวิต อยู่ที่ร้อยละ 137.35 ซึ่งบ่งชี้ว่าธุรกิจประกันชีวิตมีสินทรัพย์ลงทุนเพียงพอต่อหนี้สินผู้เอาประกันภัย
ในส่วนของสินทรัพย์ของธุรกิจประกันวินาศภัย 467,469 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 5.67 โดยสินทรัพย์ส่วนใหญ่เป็นสินทรัพย์ลงทุน จำนวน 299,309 ล้านบาท หรือร้อยละ 64.23 ของสินทรัพย์รวม ทั้งนี้ มีการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ เงินฝากธนาคารในสัดส่วนสูงที่สุด จำนวน 105,597 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.28 และขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 8.01 ขณะที่ลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง คือ หุ้นทุน จำนวน 83,308 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 27.83 ของสินทรัพย์ลงทุนรวม และขยายตัวร้อยละ 14.75 สำหรับเงินสดและสภาพคล่องของธุรกิจประกันวินาศภัย มีทั้งสิ้น 296,415 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 5.90 ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเงินสดจำนวน 385 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 12.7
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมอีกว่า ธุรกิจประกันภัยมีบทบาทในการเป็นผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่สุดในตลาดตราสารหนี้และตลาดตราสารทุนของประเทศ โดยธุรกิจประกันชีวิตและธุรกิจประกันวินาศภัยมีการลงทุนในตราสารทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำและมีสภาพคล่องสูง เพื่อความคล่องตัวในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีเกิดความเสียหายขึ้น ทำให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยเกิดความเชื่อมั่นต่อระบบประกันภัย และเล็งเห็นความสำคัญของการทำประกันภัยมากขึ้น
www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 3 กันยายน 2558
เทเวศฯ โชว์เบี้ยรับรวมทะลัก อานิสงส์คนแห่ซื้ออัคคีภัย-พีเอ
27 พฤษภาคม 2557 ทั่วไปวิริยะประกันภัย ชวนวัยใสสร้างวินัยขับขี่
26 พฤษภาคม 2557 ทั่วไป