นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ภาพรวมกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 ของธุรกิจประกันภัย มียอดกรมธรรม์ที่ยังมีผลบังคับจำนวนทั้งสิ้น 533,359 ฉบับ
นายประเวช กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ร่วมกับกระทรวงการคลังจัดงานมหกรรมแบงก์รัฐเพื่อประชาชน ภายใต้แนวคิด “ช่วยชาติ ช่วยคน ช่วยเศรษฐกิจไทย” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของผู้ประกอบการรายย่อย และเสนอผลิตภัณฑ์การบริการทางการเงิน รวมทั้งกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) จัดขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ อุดรธานี สงขลา และระยอง ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี
“ภาพรวมกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 จำนวนกรมธรรม์ที่ยังคงมีผลบังคับอยู่ทั้งสิ้น 533,359 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 53.3 ของเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1 ล้านฉบับ ภายในปี 2558 จากธุรกิจประกันชีวิต 59,162 ฉบับ ธุรกิจประกันวินาศภัย 370,928 ฉบับ และกรมธรรม์ประกันภัย 200 จำนวน 103,269 ฉบับ เบี้ยประกันภัย 20.65 ล้านบาท และมีค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันภัยรับร้อยละ 38.06 ส่วนจังหวัดที่มียอดจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัย 200 สูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดอุดรธานี ซึ่งครึ่งปีหลังสำนักงาน คปภ. และบริษัทประกันภัยที่ร่วมโครงการฯ ทั้ง 23 บริษัท ต้องร่วมมือกันเร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) และกรมธรรม์ประกันภัย 200 ให้กับกลุ่มผู้ใช้แรงงานตามโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ องค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นในระดับต่างๆ ตั้งแต่ระดับจังหวัดลงมาถึงระดับตำบล และคาดว่าครึ่งปีหลัง การเกิดภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วงจะเข้าสู่ภาวะปกติ ประชาชนคลายความกังวลในการประกอบอาชีพ ก็จะกลับมาให้ความสำคัญกับระบบประกันภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนในครอบครัวหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งจะทำให้ยอดกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เติบโตขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าว
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันธุรกิจประกันภัยมีการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เพิ่มขึ้นหลากหลาย เช่น การประกันภัยแบบสะสมทรัพย์ การประกันภัยแบบชั่วระยะเวลา การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยแบบค่าชดเชยรายวัน การประกันภัยข้าวนาปี การประกันอัคคีภัย การประกันภัยการเดินทาง และการประกันภัยโรคร้ายแรง เป็นต้น เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ซึ่งเป็นกรมธรรม์ที่มีอัตราเบี้ยประกันภัยต่ำ เงื่อนไขกรมธรรม์ไม่ซ้ำซ้อนเข้าใจง่าย ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายตามช่องทางการจำหน่ายที่สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนาขึ้นเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น เคาน์เตอร์เซอร์วิสที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง เซเว่นอีเลฟเว่น เทสโก้โลตัส และไปรษณีย์ไทย. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ เว็บไซต์ www.oic.or.th
www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 15 กรกฎาคม 2558
The Asia InsurTech Summit 2018
07 กุมภาพันธ์ 2561 ทั่วไป