หลังดีลประวัติศาสตร์ควบรวมกิจการ “เมืองไทยประกันภัย” กับ “ภัทรประกันภัย” เมื่อปี 2551 นวลพรรณ ล่ำซำ ใช้จุดแข็งจากฐานทางการเงิน ฐานการบริหาร ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และช่องทางการตลาด เปิดเกมรุกช่วงชิงส่วนแบ่ง เปลี่ยนสถานะจากบริษัทรั้งท้ายไม่ติดอันดับ กระโดดสู่กลุ่มท็อปไฟว์ กวาดเบี้ยประกันภัยทะลุหลักหมื่นล้านบาท และล่าสุดแซงหน้าบริษัทคู่แข่งยึดอันดับ 4 ในตลาด ดันกำไรพุ่งสูงสุดติดต่อกัน 3 ปี
แน่นอนว่าชื่อนวลพรรณ ล่ำซำ ฉายา “มาดามแป้ง” “สวยประหาร” และ “นางฟ้าท่าเรือ” ด้านหนึ่งสร้างสีสันให้องค์กรธุรกิจ แต่สำคัญมากกว่านั้น นวลพรรณมักย้ำกับสื่อทุกครั้งว่า เติบโตและเรียนรู้ธุรกิจประกันวินาศภัยมาตลอดชีวิต ตั้งแต่รุ่นพ่อ คือ โพธิพงษ์ ล่ำซำ จนเข้ามาบริหารงานนานเกือบ 10 ปี และเชื่อมั่นว่า ประกันภัย คือปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์ ซึ่งหมายถึงโอกาสการเติบโตทางธุรกิจอีกมากมาย แต่ต้องสร้าง “จุดต่าง” จากคู่แข่ง
โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์การประกันภัยหลากหลายรูปแบบตามสถานการณ์และไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมาย เพราะในอดีตผลิตภัณฑ์ในตลาดประกันวินาศภัยเหมือนถูกจำกัดไว้ไม่กี่ประเภท เช่น ประกันภัยอัคคีภัย ประกันภัยรถยนต์ ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ ประกันภัยการขนส่งทางทะเล
นวลพรรณตั้งโจทย์ให้ “เมืองไทยประกันภัย” ต้องมีกรมธรรม์สนองทุกความต้องการของลูกค้า โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจ เพราะถือเป็นกลุ่มเป้าหมายมูลค่าสูงและคู่แข่งยังไม่เน้นเจาะตลาด โดยใช้เวลาหลายปีฟอร์มทีมงานพิเศษระดับหัวกะทิ จำนวน 8 คน คิดค้นและออกแบบกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับภาคธุรกิจ เรียกว่า “Special Product”
ระยะแรกในฐานะกรรมการผู้จัดการและเจ้าของโปรเจกต์ นวลพรรณและทีมงานต้องเดินทางไปเรียนรู้การประกันวินาศภัยทุกรูปแบบในต่างประเทศและออกแบบกรมธรรม์ที่เหมาะกับภาคธุรกิจไทย รวมทั้งออกโรงนำเสนอให้กลุ่มลูกค้าด้วยตัวเอง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่
สเปเชียลโปรดักส์ที่ออกสู่ตลาด ได้แก่ ประกันภัยอัญมณีและทองคำ (Jewelry Block)/ ประกันภัยของสะสม ประเภทศิลปวัตถุ, ประกันภัยการก่อการร้าย (Political Violence) เน้นธุรกิจขนาดใหญ่ เช่น กลุ่มห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิง โรงภาพยนตร์ โรงเรียน โรงพยาบาล โรงแรม ธนาคาร
ประกันภัยเครื่องบินและความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากเครื่องบิน (Aviation Insurance), ประกันภัยสินเชื่อทางการค้า (Trade Credit) คุ้มครองการไม่ชำระค่าสินค้าจากสาเหตุต่างๆ เช่น ผู้ซื้อล้มละลาย สงคราม การปฏิวัติรัฐประหาร
ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่บริหาร (Directors’ and Officer’ Liability) คุ้มครองความเสียหายทางการเงินและค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีที่เกิดจากการบริหารงานผิดพลาด รวมถึงประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายอันเกิดจากวิชาชีพ เช่น ความประมาทเลินเล่อของแพทย์ วิศวกร สถาปนิก
ทีมงานสเปเชียลกลุ่มนี้ ทุกคนจะถูกส่งไปเรียนรู้ข้อมูลในต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษารูปแบบการประกันวินาศภัยใหม่ๆ
ล่าสุด กลุ่มผลิตภัณฑ์ประกันภัยพิเศษสามารถสร้างเม็ดเงินรายได้เฉลี่ย 700-800 ล้านบาทต่อปี หรือเกือบ 10% ของเบี้ยรับรวมและมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีศักยภาพ ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีความหลากหลาย ไม่พึ่งพิงเฉพาะประภัยรถยนต์ที่แข่งขันสูงและเริ่มชะลอตัวตามตลาดรถยนต์
เมื่อเร็วๆ นี้ นวลพรรณ ล่ำซำ ในฐานะกรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ปี 2558 บริษัทตั้งเป้าหมายการเติบโตของเบี้ยประกันรับตรงอยู่ที่ 11,986 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนเป็นประกันภัยรถยนต์ (Motor) 48% และประกันภัยทั่วไป (Non-Motor) 52% โดยเติบโตต่อเนื่องจากปี 2557 ที่มีผลกำไรสุทธิ 856 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรสูงสุดนับตั้งแต่บริษัทควบรวมกิจการและมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 10,233 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2556 คิดเป็น 15.1% โดยเป็นเบี้ยประกันภัยรับตรง 10,028 ล้านบาท คิดเป็นอันดับที่ 4 ของอุตสาหกรรม
หากเปรียบเทียบเบี้ยในแต่ละกลุ่ม ปี 2557 แบ่งสัดส่วนการประกันภัยรถยนต์ 49% และประกันภัยทั่วไป 51% ซึ่งแยกเป็นประกันภัยอัคคีภัย 12% ประกันภัยการขนส่งทางทะเล 2% ประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ 17% และประกันภัยเบ็ดเตล็ด 20%
ปี 2558 มีการเพิ่มสัดส่วนกลุ่มประกันภัยทั่วไปอยู่ที่ 52% โดยเฉพาะกลุ่มประกันภัยเบ็ดเตล็ด เพราะมีศักยภาพเติบโต ทั้งการประกันภัยสำหรับบุคคลและภาคธุรกิจ ซึ่งเป็นโจทย์ทางการตลาดที่นวลพรรณวางแผนไว้ตั้งแต่ก้าวเข้ามาเป็นผู้บริหารอย่างเต็มตัว
ล่าสุด เมืองไทยประกันภัยเปิดตัวกรมธรรม์รูปแบบ Collection ทั้งประกันภัยบ้าน รถยนต์ และจักรยาน ใช้ชื่อว่า “เมืองไทยดียกกำลัง 8” เริ่มจากประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครอง 8 อย่าง ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางระหว่างนำรถเข้าซ่อม 2,000 บาทต่อครั้ง สูงสุด 3 ครั้งต่อปี บริการช่วยเหลือรถเสียฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำกัดจำนวนครั้ง เบี้ยประกันภัย 8,888 บาท
ประกันบ้านให้ความคุ้มครอง 18 อย่าง เช่น ค่าใช้จ่ายสำหรับที่พักอาศัยชั่วคราว 1,000 บาทต่อวัน, ความรับผิดต่อความเสียหายของบุคคลภายนอกจากอุบัติเหตุ, การโจรกรรม การลักทรัพย์ และการปล้นทรัพย์ เบี้ยประกันภัย 1,600–18,200 บาท
สำหรับประกันภัยจักรยาน ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่เปิดขายผ่านตัวแทน มีการให้เงินชดเชยรายวัน กรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน เนื่องจากอุบัติเหตุ 500 บาท ต่อวัน สูงสุด 30 วันต่ออุบัติเหตุ 1 ครั้งและให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตสูงถึง 300,000 บาท ซึ่งจากข้อมูลพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้จักรยานทั่วประเทศ 2.25 ล้านคน เป็นผู้ใช้จักรยานเพื่อการท่องเที่ยวมากถึง 260,000 คนและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งในแง่เทรนด์การออกกำลังกายและปัญหาการจราจรติดขัด
“ประกันวินาศภัยจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่แข่งราคาอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องมีบริการและรูปแบบใหม่ๆ อย่างประกันภัยจักรยานเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จับไลฟ์สไตล์และเทรนด์การออกกำลังกายมาออกแบบกรมธรรม์ ไม่ใช่เน้นเฉพาะตัวจักรยาน แต่เน้นคุ้มครองผู้ขับขี่ด้วย”
อีกข้อที่นวลพรรณย้ำว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดของธุรกิจประกันวินาศภัย คือการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เพราะเป็นดัชนีวัดความมั่นคงของบริษัทและเป็นปัจจัยการตัดสินใจของกลุ่มลูกค้าด้วย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตต่างๆ ทั้งวิกฤตทางการเมือง วิกฤตทางการเงิน รวมถึงวิกฤตจากภัยธรรมชาติอย่างมหาอุทกภัยปี 2554
แม้ยังไม่เกิดกับ “เมืองไทยประกันภัย” แต่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น การเปิดเสรีประกันภัยและต่างชาติที่กำลังรุกเจาะตลาดหลังเปิดเออีซี สถานการณ์ทั้งหมดกำลังย้อนรอยประวัติศาสตร์ บทเรียนที่ “ล่ำซำประกันภัย” เคยประสบจนเกือบปิดฉากธุรกิจมาแล้ว
www.gotomanager.com
ผู้จัดการ 360° วันที่ 9 มีนาคม 2558
เทเวศฯ โชว์เบี้ยรับรวมทะลัก อานิสงส์คนแห่ซื้ออัคคีภัย-พีเอ
27 พฤษภาคม 2557 ทั่วไปวิริยะประกันภัย ชวนวัยใสสร้างวินัยขับขี่
26 พฤษภาคม 2557 ทั่วไป