คปภ.เผยธุรกิจประกันภัยปี 57 ที่ผ่านมาเติบโต 7.04 แสนล้านบาท คิดเป็น 9.23% รับอานิสงส์ ศก.ปลายปีโต คาดปี 58 โต 7.8 แสนล้าน หรือคิดเป็น 12% ประกันชีวิตโต 13% และประกันวินาศภัยโต 9%
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ในปีนี้ คปภ.คาดว่าธุรกิจประกันภัยจะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 7.87 แสนล้านบาท เติบโต 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน แบ่งเป็นเบี้ยจากประกันวินาศภัย 2.23 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 9% และเบี้ยประกันชีวิต 5.63 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 13% ใกล้เคียงกับปี 2557
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของภาพรวมธุรกิจประกันภัยในปี 2557 ยังคงมีอัตราการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 7.04 แสนล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.23% และมีสัดส่วนเบี้ยประกันภัยต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ 5.9% จากธุรกิจประกันชีวิต 4.1% และธุรกิจประกันวินาศภัย 1.8%
ทั้งนี้ แบ่งเป็นเบี้ยจากธุรกิจประกันวินาศภัย 2.05 แสนล้านบาท เติบโต 1.05% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันภัยรถมีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด 1.17 แสนล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.7% แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 1.02 แสนล้านบาท และประกันภัยรถภาคบังคับ 1.53 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นการประกันภัยเบ็ดเตล็ด 7.09 หมื่นล้านบาท เติบโต 5.1% และการประกันอัคคีภัย 1.1 หมื่นล้านบาท ลดลง 6.4%
สำหรับเบี้ยจากธุรกิจประกันชีวิตมีจำนวน 4.98 แสนล้านบาท เติบโตอย่างโดดเด่นถึง 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการอย่างต่อเนื่องของธุรกิจประกันชีวิตซึ่งมีการพัฒนาช่องทางการขายให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการประกันภัยได้อย่างเพียงพอและทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มช่องทางการขายผ่านร้านสะดวกซื้อต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับรายย่อยใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนผู้มีรายได้น้อย โดยการประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุดคือ การประกันชีวิตประเภทสามัญ 4.29 แสนล้านบาท เติบโต 15.5% รองลงมาประเภทกลุ่ม 5.59 หมื่นล้านบาท ลดลง 0.7% และประเภทอุตสาหกรรม 7,718 ล้านบาท ลดลง 2.4%
“ทาง คปภ. และภาคธุรกิจประกันภัยจะมุ่งเน้นประสานความร่วมมือในการผลักดันให้ประชาชนในวงกว้างสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากระบบประกันภัยได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกันภัยสำหรับรายย่อย ที่มีอัตราเบี้ยประกันภัยต่ำ มีความคุ้มครองที่เข้าใจง่ายไม่ซับซ้อน ซึ่งถือเป็นการช่วยเหลือสังคม ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย”นายประเวชกล่าว
www.manager.co.th
ASTVผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2558
คปภ. เร่งประชาสัมพันธ์ไมโครอินชัวรันส์ หวังครึ่งปีหลังเข้าเป้า
20 กรกฎาคม 2558 ทั่วไป