ฟิทช์ฯ วิเคราะห์ธุรกิจประกันไทยมีส่วนต่างกำไรสูง ดึงดูดนักลงทุนต่างประเทศได้ต่อเนื่อง
นาย ตฤณ ศิริวุฒิเศรษฐ รองผู้อำนวยการ บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจประกันภัยไทยปี 2558 พบยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะปัจจุบันอัตราส่วนการถือครองกรมธรรม์ของประชาชนยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะบริษัทประกันชีวิตขนาด
ใหญ่ที่มีเงินกองทุนสูง พบว่าระดับการทำกำไรยังดี ในอนาคตจะมีการแข่งขันด้านราคาเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบัน บริษัทประกันชีวิตที่มีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับธนาคาร 4 แห่ง ที่มีการขายประกันผ่านช่องทางธนาคาร หรือ แบงก์แอสชัวรันส์ มีอัตราการเติบโตที่ดี จะดึงดูดให้บริษัทประกันชีวิตรายอื่นๆ เข้ามาสู่ตลาดนี้เพิ่มขึ้น ผ่านกรมธรรม์ควบการลงทุน และกรมธรรม์แบบอื่นๆ ที่จะนำมาแข่งขันกับผลิตภัณฑ์เงินฝากของธนาคาร เพราะกรมธรรม์ประกันชีวิตมีปัจจัยเรื่องการได้สิทธิลดหย่อนทางภาษีสนับสนุน จะดึงดูดความสนใจของลูกค้าได้
“มาร์จิ้นจากการขายประกันผ่านธนาคารยังดีอยู่ ทำให้บริษัทประกันชีวิตรายอื่นเข้ามาแข่งขันในช่องทางนี้มากขึ้น” นายตฤณ กล่าว
นาย ตฤณ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม การขายผ่านตัวแทนยังมีความสำคัญมาก โดยบริษัทประกันชีวิตที่มีช่องทางการขายผ่านธนาคารและตัวแทนที่แข็งแกร่งจะ มีความได้เปรียบ เพราะสินค้ากลุ่มที่เน้นให้ความคุ้มครองสูงจะต้องใช้ความสามารถของตัวแทนใน การขาย และเป็นสินค้าที่มีส่วนต่างกำไรสูงกว่า จะทำให้ความสามารถในการทำกำไรทำได้มากกว่าบริษัทที่มีช่องทางขายผ่านธนาคาร เพียงอย่างเดียว
ขณะที่ บริษัทประกันวินาศภัย และบริษัทประกันชีวิต จะได้รับผลกระทบจากการที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบ ธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่เริ่มใช้เกณฑ์การดำรงเงินกองทุนตามระดับความเสี่ยง (RBC) ระยะที่ 2 ซึ่งจะต้องดำรงเงินกองทุนขั้นต่ำสูงสุด เพื่อกำกับให้ฐานะเงินกองทุนมีความมั่นคงมากขึ้น และมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่จะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยขนาดเล็ก ต้องมีความยากลำบากในการเพิ่มทุนด้วยตัวเอง มีความเป็นไปได้ที่จะมีการควบรวมกิจการกันเพื่อให้เงินกองทุนขั้นต่ำเป็นไป ตามเกณฑ์ที่คปภ.กำหนด
“ธุรกิจประกันวินาศภัย ยังโตได้อีกตามภาวะเศรษฐกิจไทย ทำให้ดึงดูดความสนใจจากนักลงทุนต่างประเทศ จะเห็นว่าในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมามีบริษัทประกันวินาศภัยจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในไทยพอ สมควร เพราะมองว่าธุรกิจประกันภัยในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย ยังมีแนว
โน้มเติบโตได้อีกมาก”นายตฤณ กล่าว
นายตฤณ กล่าวว่า ปัจจัยที่จะเป็นอุปสรรคของการเข้ามาควบรวมกิจการกับบริษัทประกันภัยไทย คือการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นขั้นต่ำของนักลงทุนต่างประเทศไว้ที่ 49% และยังไม่มีแนวโน้มที่จะแก้ไขในเร็วๆ นี้
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหลังจากเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ เออีซี หากมีการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นมากกว่า 49% จะทำให้ต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะประกันภัยไทยมีช่องทางการขายในประเทศที่แข็งแกร่ง การที่ต่างชาติจะเข้ามาทำตลาดลำพังเพื่อแย่งส่วนแบ่งตลาด
จากบริษัท ประกันภัยไทยทำได้ยาก สำหรับบริษัทประกันไทย ทั้งประกันชีวิต และประกันวินาศภัย ที่จะออกสู่ตลาดอาเซียน จะเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งขณะนี้มีบริษัทประกันไทยเริ่มเข้าไปตั้งสำนักงานในประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อศึกษาตลาด
ทั้งนี้ ตลาดประกันภัยไทยทั้ง 2 ธุรกิจสามารถที่จะพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภค เช่น กรมธรรม์ควบการลงทุน หรือ ยูนิต-ลิงค์ ที่หลายประเทศในภูมิภาคนี้มีการพัฒนาไปค่อนข้างมาก ตลาดไทยก็จะไปในทิศทางนั้นเช่นเดียวกัน เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
www.posttoday.com
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 30 มกราคม 2558
ประกันภัย 200 เจ๋ง! 7 เดือนแรกยอดโตเฉลี่ยเดือนละ 15%
01 กันยายน 2557 ทั่วไป