เมืองไทยสุดแฮปปี้ โชว์ผลงานครึ่งปีแรกฟันกำไร 474 ล้านบาท พร้อม “ก้าวสู่อันดับ 4 อย่างมั่นคง” หลังการเมืองคลี่คลาย พร้อมเตรียมเปิดขายประกันภัยจักรยานในไตรมาส 4 นี้ เน้นพัฒนาช่องทางการขายทุกช่องทาง
นางนวลพรรณ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยในครึ่งปีแรกของ 2557 นั้น เติบโตค่อนข้างน้อยมาก ประมาณ 1% เท่านั้น ซึ่งมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน เช่น การเติบโตแบบถดถอยใน GDP อีกทั้งไม่มีโครงการกระตุ้นการบริโภคจากภาครัฐ การระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน เนื่องจากความไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ การชะลอหรือยกเลิกการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชน ตลอดจนการแข่งขันที่มากขึ้นในธุรกิจประกันวินาศภัยเอง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความชัดเจนทางการเมืองในปัจจุบันนั้น ทำให้คาดการณ์ว่า GDP น่าจะเติบโตได้ดีมากกว่า 2% ทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยน่าจะเติบโตได้ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก ทั้งนี้คาดว่าในทั้งปี 2557 นั้นธุรกิจอาจจะเติบโตได้ประมาณ 4-5%
ในส่วนผลการดำเนินงานประจำงวด 6 เดือนแรกของปี 2557 บริษัทฯ มีผลประกอบการที่ดีมาก โดยมีผลกำไรสุทธิสูงถึง 474 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรระหว่างงวดที่สูงสุดนับแต่มีการควบรวมกิจการ บริษัทฯ สามารถสร้างผลกำไรที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ภายหลังจากที่เคยขาดทุนจากการบันทึกสินไหมกรณีเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ปัจจุบันเริ่มเข้าสู่ภาวการณ์ที่ปกติ
สำหรับผลประกอบการงวด 6 เดือนแรกนี้บริษัทฯ มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 4,763 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปี 2556 คิดเป็นร้อยละ 15.3 อันเป็นผลมาจากการมีช่องทางขายที่หลากหลาย เน้นกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้หลายระดับทั้งด้านประกันภัยรถยนต์และประกันภัยทั่วไป โดยมีเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้จำนวน 2,604 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ในครึ่งปีแรกนี้ “เบี้ยประกันภัยรับตรง” ยังเติบโตใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้คือ 15-16% ซึ่งเป็นการเติบโตตามแผนงาน และมี Portfolio Product Mix ประกอบด้วย Motor : Non-Motor ประมาณ 50 : 50% เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ด้วยกลยุทธ์ความหลากหลายของช่องทางและผลิตภัณฑ์ ตลอดจนการขยายพันธมิตรการขายใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง
จากการปรับโครงสร้างประกันภัยต่อดังกล่าว บริษัทฯ มีรายได้ค่าจ้างและบำเหน็จเพิ่มขึ้นเป็น 584 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาคิดเป็นร้อยละ 36.9 ค่าใช้จ่ายในการรับประกันภัย ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และเงินสมทบมีจำนวน 2,804 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 167 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.3 อย่างไรก็ตามหากเทียบผลการดำเนินงานตามปกติที่ไม่รวมรายการสินไหมอุกทกภัยในส่วนของค่าใช้จ่ายดังกล่าวสำหรับงวด 6 เดือน ปี 2557 มีจำนวน 2,849 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนซึ่งมีจำนวน 2,765 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3 ในขณะที่รายได้รวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 5
นอกจากนี้บริษัทฯ มีรายได้และผลกำไรจากการลงทุนในหลักทรัพย์รวม 186 ล้านบาท ในภาพรวมบริษัทฯ มีกำไรก่อนหักภาษีเงินได้ 571 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 474 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วซึ่งมีจำนวน 452 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 4.8
ทั้งนี้บริษัทฯ มีสินทรัพย์ลงทุนตามมูลค่ายุติธรรมประมาณ 8,261 ล้านบาท และรายได้จากการลงทุนในหลักทรัพย์ช่วง 6 เดือนแรกมีรายได้ประมาณ 186 ล้านบาท คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 3.75% หากรวมการเปลี่ยนแปลงมูลค่าเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นอีก 98 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวผลตอบแทนจากการลงทุนโดยรวมจะอยู่ที่ 4.97% การที่รายได้จากการลงทุนฯ ของปี 2557 น้อยกว่าปีก่อนเนื่องจากในปีก่อนมีกำไรจากการจำหน่ายหลักทรัพย์ในจำนวนที่มากเนื่องจากทิศทางการลงทุนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เป็นไปในทิศทางที่เอื้ออำนวยและดีกว่าปีปัจจุบันที่ช่วง 6 เดือนแรกเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผันผวน
นางนวลพรรณ กล่าวต่อว่า ในปี 2557 บริษัทฯ มีแผนงานหลัก ได้แก่ สำหรับแผนงานการขยายช่องทางการขายในครึ่งปี 2557 ยังคงขยายการเติบโตทุกช่องทาง (Multi-Channels) โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับช่องทางต่างๆ บริษัทฯ มุ่งเน้นการประสานงานร่วมกับพันธมิตรของช่องทางขายต่างๆ (Partners Collaboration) เพื่อศึกษาด้านผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่มีความหลากหลายมากขึ้น และการให้บริการ รายละเอียดในแต่ละช่องทางดังนี้
1.ช่องทางธุรกิจตัวแทน ซึ่งเป็นช่องทางอันสำคัญของบริษัทฯ ฝ่ายขายวางเป้าหมายของการขยายฐานตัวแทนและยอดขายผ่านช่องทางนี้ค่อนข้างสูง การขยายจำนวนตัวแทนบริษัทฯ ยังคงมุ่งเน้นการขยายตัวทั่วภูมิภาค เขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ การจัดโปรแกรมในการอบรมเพื่อให้ตัวแทนมีความรู้ทางด้านผลิตภัณฑ์ และการให้บริการแก่ลูกค้าทั้งด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการหลังการขายแก่ลูกค้า บริษัทฯ ยังคงส่งเสริมให้ตัวแทนเป็นผู้ประกอบการด้านประกันภัย (Insurepreneurship) พร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมๆ กับบริษัท
2.ช่องทางธุรกิจนายหน้า บริษัทฯ ได้มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่ครบวงจรให้แก่พันธมิตรช่องทางนี้ ในอดีตช่องทางนี้เราจะเน้นงาน Non-Motor แต่ในปัจจุบันรูปแบบการขายให้กับรายย่อย ช่องทางนี้กำลังขยายตัวในด้าน Motor ซึ่งทางบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับกลุ่มลูกค้าหรือเป้าหมายของนายหน้าแต่ละราย ที่เป็นคู่ค้าของบริษัทฯ ทั้งในกรุงเทพฯ และในระดับภูมิภาค
3.ช่องทางพันธมิตรธุรกิจรถยนต์และบริษัทลิสซิ่ง บริษัทฯ มีการวางแผนกับบริษัทลิสซิ่ง และผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ในยี่ห้อหลักๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปรับกระบวนการในการให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า ซึ่งการขยายตัวในกลุ่มนี้มักจะเป็นรถยนต์ในปีแรกๆ ซึ่งลูกค้ามีความประสงค์จะซื้อประกันภัยรถยนต์ซ่อมศูนย์ ที่บริษัทฯ มีพันธมิตรครอบคลุมทั่วประเทศ
4.ช่องทางแบงก์แอสชัวรันส์ บริษัทฯ มีหลายธนาคารที่เป็นพันธมิตรร่วมกันขยายงานขายประกันภัยผ่านข่องทางนี้ โดยมีผลิตภัณฑ์หลักที่มีความโดดเด่นคือประกันอุบัติเหตุ และประกันภัยรถยนต์ ตั้งแต่ พ.ร.บ. และ Package ต่างๆ ทั้งนี้บริษัทฯ ได้มีแผนงานขยายการขายประกันภัยรถยนต์กับธนาคารที่เป็นพันธมิตรหลักคือธนาคารกสิกรไทย ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของธนาคารทั่วภูมิภาค เพื่อให้ช่องทางของธนาคารเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ลูกค้าสามารถเลือกใช้บริการได้
5.ช่องทาง e-Commerce เป็นช่องทางที่บริษัทฯ ได้ให้ความสำคัญตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ขณะนี้บริษัทฯ ได้พัฒนา Website ที่เป็นช่องทางการขายประกันภัยเสมือนจริง (Virtual Insurance Market Place) อีกช่องทางหนึ่งที่กลุ่มลูกค้าสามารถเข้ามาซื้อประกันภัยเดินทางเพื่อนำไปขอวีซ่ากับสถานทูตต่างๆ พร้อมสามารถชำระเงินได้ทันทีผ่าน Payment Gateway ที่มีระบบรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากลร่วมกับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อความสะดวกสบายมากขึ้น
6.ช่องทางผลิตภัณฑ์พิเศษ (Special Product) เป็นช่องทางที่สร้างความแตกต่างในแบบประกันภัย ซึ่งต้องใช้ทีมงานเฉพาะทางในการพิจารณารับประกันภัยและให้การดูแลลูกค้า โดย Product ที่เป็นไฮไลท์ของปีนี้ก็ยังเป็น “Trade Credit Insurance” การประกันภัยสินเชื่อทางการค้า เนื่องจากช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถบริหารความเสี่ยงที่เกิดจากผลกระทบของเศรษฐกิจในปัจจุบันต่อความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระเงินจากผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมี “Product Liability Insurance” การประกันภัยความรับผิดอันเนื่องมาจากสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันได้รับความสนใจมากขึ้น โดยเฉพาะบริษัทที่รับผลิตสินค้ารายใหญ่ที่ต้องผลิตสินค้าให้กับเจ้าของสินค้าที่มีลิขสิทธิ์เครื่องหมายทางการค้าเป็นที่รู้จัก เพื่อให้ความคุ้มครองความเสียหายต่อร่างกาย และทรัพย์สินของผู้บริโภค อันเนื่องมาจากการบริโภคสินค้านั้นๆ
สำหรับแผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ในครึ่งปีหลังนั้น บริษัทฯ ยังมุ่งเน้นในการสร้างสรรค์ความคุ้มครองที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิต หรือ Lifestyle ของผู้บริโภค โดยในปีนี้จะมีการออกกรมธรรม์คุ้มครองจักรยาน เพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมายนักปั่นจักรยานที่มีการเติบโตอย่างมาก โดยคุ้มครองจักรยานและอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งจะมีทุนประกันตั้งแต่ 10,000 จนถึงหลักแสนบาท สำหรับด้านประกันภัยรถยนต์นั้น บริษัทฯ มีการออกผลิตภัณฑ์คุ้มครองส่วนต่างมูลค่ารถยนต์ หรือ Gap Insurance ที่คุ้มครองส่วนต่างระหว่างมูลค่าของรถยนต์ใหม่ หรือมูลค่าตามราคาตลาด กับทุนประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ เนื่องจากประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ ให้ความคุ้มครองเฉลี่ยเพียง 80% ของมูลค่ารถยนต์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถยนต์สูญหาย หรือเกิดความเสียหายสิ้นเชิงต่อตัวรถ กรมธรรม์นี้จะช่วยให้ผู้เอาประกันภัย มั่นใจได้ว่าจะสามารถจัดหารถยนต์ทดแทนได้
สำหรับผลิตภัณฑ์คุ้มครองรถจักรยานที่จะเปิดตัวออกมานั้น คาดว่าจะสามารถเปิดตัวช่วงต้นไตรมาส 4 โดยจะมีค่าเบี้ยประกันภัย 3-10% ของมูลค่าจักรยาน ทุนประกันตั้งแต่ 10,000 จนถึง 100,000 บาท คาดในระยะเวลา 1 ปี จะมีเบี้ยประกันภัยประมาณ 10 ล้านบาท หรือประมาณ 2,000 คัน โดยจัขายผ่านช่องไดเรกต์ และช่องทางตัวแทน
อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนการรับประกันภัยรถยนต์ในครึ่งปีหลัง บริษัทฯ ก็ยังดำเนินการอย่างสอดคล้องและต่อเนื่องกับแผนงานในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ในส่วนของการรับประกันภัยรถยนต์ (Motor) บริษัทฯ ยังคงเน้นช่องทางที่มาจากตัวแทน นายหน้า และลูกค้าในเครือธนาคารกสิกรไทย และยังคงแผนงานรับประกันภัยทั้งรถส่วนบุคคลซึ่งรวมถึงรถยนต์ที่มีมูลค่าสูง (Motor Hi-sum) และรถใหญ่ที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ (Commercial Car) การพิจารณาการรับประกันภัยได้ให้ความสำคัญในเรื่องการบริหาร Portfolio ของแต่ละช่องทางด้วย ในช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา สัดส่วนค่าสินไหมทดแทนต่อเบี้ยประกันภัย (Loss Ratio) จะอยู่ในช่วง 64-66% และบริษัทฯ ประมาณการว่าทั้งปีก็น่าจะอยู่ในช่วงระดับนี้เช่นกัน
คปภ. เผยไฟไหม้เมเจอร์ปิ่นเกล้า ประกันภัยให้ความคุ้มครอง
01 สิงหาคม 2559 ทั่วไป