คนไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการทำประกัน เพราะยังมองว่าเป็นธุรกิจตีหัวเข้าบ้าน หาเงินเข้ากระเป๋าแบบง่ายๆจากความเดือดร้อนของคนอื่น แต่สำหรับเจ้าพ่อวงการประกันภัยหัวก้าวหน้าที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการมาหลายทศวรรษ “จุลพยัพ ศรีกาญจนา” ประธานคณะกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด (มหาชน) การทำประกันภัยถือเป็นใบเบิกทางสู่อิสรภาพในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ขอ 3 คำค่ะ ทำไมคนไทยต้องซื้อประกันภัย
ทุกวันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญกับการทำประกันภัย มักจะทำเพราะโดนบังคับ ไม่คิดว่าเราควรทำเผื่อเกิดอุบัติเหตุ แล้วจะได้รับการคุ้มครอง ทุกครั้งที่เกิดอุบัติภัย อุทกภัย หรือมหันตภัยใหญ่ ผมจะถามตัวเองตลอดว่า ทำไมคนไทยถึงไม่ทำประกันภัย!! ผมจำได้เลยว่า ก่อนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 บริษัทของเราได้พยายามผลักดันให้รถยนต์ บ้านเรือน และทรัพย์สิน ต้องทำประกันภัยน้ำท่วม หรือคุ้มครองภัยพิบัติ ในวงเงิน 50,000-200,000 บาท น่าเสียดายที่ยังไม่ทันได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้จำหน่ายในตลาด ก็เกิดอุทกภัยดังกล่าวขึ้นก่อน เรื่องพวกนี้ถ้าเราซื้อประกันป้องกันไว้ล่วงหน้า ก็คงไม่ได้รับความเสียหายอย่างที่เกิดขึ้น อธิบายแบบนี้คงพอเห็นภาพว่า การทำประกันภัยมีประโยชน์ยังไง มันเป็นการเฉลี่ยความเสี่ยง ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจที่มีมาร์จิ้นกำไรต่ำมากๆ ไม่ถึง 10% แต่อาศัยปริมาณเยอะ หลักการของมันก็คือ การเอาคนแสนคนมาดูแลคนร้อยคน ถึงร้อยคนจะเป็นอะไรไป คนดูแลตั้งแสนคนก็ไม่สะเทือนเท่าไหร่
ธุรกิจประกันภัยในเมืองไทยพัฒนาไปไกลขนาดไหน
ดูกันเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ธุรกิจประกันภัยของประเทศไทยล้าหลังกว่าเขาเพื่อน แม้แต่พม่า, เขมร และลาว ก็มีฟาวเดชั่นด้านธุรกิจประกันภัยที่พัฒนากว่าเมืองไทยมาก เพราะประเทศเหล่านี้เคยเป็นเมืองขึ้น ทำให้มีการวางรากฐานด้านธุรกิจประกันภัยไว้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นตำรับของธุรกิจประกันภัย จึงปลูกฝังเรื่องนี้ไว้มาก หลังจากเราเปิดเสรีเศรษฐกิจอาเซียน ผมคิดว่าไม่ใช่เราที่จะได้โอกาสในการบุกไปเปิดตลาดประเทศเพื่อนบ้าน แต่ประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนต่างหากจะบุกมาขายของคนไทย
บ้านเรามีการแข่งขันขับเคี่ยวรุนแรงมากไหม
ประเทศไทยมีคนทำประกันภัยแค่ 14% ส่วนประกันชีวิตมีไม่ถึง 20% เรายังมีช่องว่างตลาดเหลืออีกเยอะ โดยเฉพาะในธุรกิจประกันภัย ซึ่งครอบคลุมการดูแลทรัพย์สินทุกอย่างที่ไม่ใช่ชีวิต ประกันภัยที่คนไทยคุ้นเคยดีและใช้บริการกันมากคือ ประกันภัยรถยนต์ และประกันภัยบ้าน ผมเชื่อว่าโอกาสในการขยายตัวของธุรกิจประกันภัยมีมากถึงมากที่สุด แทบไม่ต้องสนใจคู่แข่งเลย สนใจแต่ว่าจะทำยังไงให้ได้ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ สมัยก่อนไม่ค่อยมีใครสนใจธุรกิจประกันภัยรถยนต์หรอก เพราะรู้กันในวงการว่ากำไรน้อย ความเสียหายมาก ธุรกิจประกันภัยเงินสดเยอะมาก มีเงินเหลือปล่อยกู้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องระดมทุนด้วยซ้ำ ทุกวันนี้มีรถบนท้องถนนกว่า 10 ล้านคันที่ไม่มีประกัน ถ้ามาชนรถคุณแล้วจะเกิดอะไรขึ้น แล้วจะยอมเสี่ยงหรือ
“คุณปุ๋ม” เข้ามาโลดแล่นอยู่ในวงการประกันภัยได้ยังไง
ก่อนหน้านี้ครอบครัวศรีกาญจนาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอาคเนย์ประกันภัยฯ ซึ่งผมก็เข้าไปช่วยงานคุณพ่อตั้งแต่เรียนจบ แต่หลังเกิดความขัดแย้งรุนแรงในกลุ่มผู้ถือหุ้น ทำให้เราต้องแยกตัวออกมาทำธุรกิจใหม่ โดยเข้าเทกโอเวอร์ “บริษัท เอเชียประกันภัย 1950 จำกัด” ซึ่งเป็นบริษัทประกันภัยขนาดเล็กของกลุ่มธนาคารเอเชียทรัสต์ เมื่อปี 2546 ตอนนั้นผมตั้งใจสร้าง “เอเชียประกันภัย” ให้เป็นบริษัทประกันภัยที่มีนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นผู้นำเทรนด์ของวงการประกันภัย เพราะย้อนกลับไปยุค 10 ปีที่แล้ว ธุรกิจประกันภัยเป็นธุรกิจเก่าและโบราณ ไม่มีความแปลกใหม่เลย โจทย์ของผมคือทำยังไงถึงจะปั้นบริษัทประกันภัยขนาดเล็กมากอย่าง “เอเชียประกันภัย” ให้แจ้งเกิด ในขณะที่มีเจ้าตลาดรายใหญ่ๆอยู่เต็มไปหมด ถ้าเราไม่มีความแตกต่างก็ไม่มีทางเกิด
“เอเชียประกันภัย” ยุคใหม่ พลิกโฉมวงการประกันภัยเมืองไทยอย่างไร
ผมสร้าง “เอเชียประกันภัย” ให้เป็น “สมาร์ท อินชัวรันส์” เป็นอะไรที่ทุกคนจับต้องได้ เหมาะกับคนฉลาดเลือก และต้องมีนวัตกรรมแปลกใหม่ไม่ซ้ำใคร ไม่ว่าเจเนอเรชั่นไหนก็ต้องสัมผัสเข้าถึงได้ ที่สำคัญต้องเปลี่ยนมุมมองของคนไทยที่มีต่อการซื้อประกันภัย ทำให้คนซื้ออยากซื้อจริงๆ ไม่ใช่ซื้อเพราะโดนทุบหัวบังคับให้ซื้อ สิ่งที่ผมภูมิใจมากคือผมเป็นคนแรกในประเทศไทย ที่คิดค้นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แบบใหม่ เมื่อปี 2548-2549 คือ ASIA 3+ จนได้รับการยกย่องให้เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมใหม่ของวงการประกันภัย และได้รับรางวัลโกลด์อวอร์ดจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เมื่อปี 2551 ผลิตภัณฑ์ของเราโดนใจผู้ซื้อประกัน เพราะมีความเฟรนลี่และเทรนดี้ คือ ราคาเดียวทุกยี่ห้อ เราตั้งราคาแค่ 6,800 บาทต่อปี ไม่ต้องตรวจสภาพรถ ไม่ต้องถ่ายรูป ผมคิดผลิตภัณฑ์ตัวนี้จากพื้นฐานที่ว่า คนไทยเบื่อการซื้อประกันภัยรถยนต์ และมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ผมจึงตัดสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปหมด และเหลือไว้แต่ความคุ้มครองที่จำเป็น ทำให้เป็นประกันภัยอย่างพอเพียง ในเมื่อประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 แพงไป ส่วนประกันภัยชั้น 3 ก็ไม่คุ้มครองอะไรเลย ผมจึงคิด 3 พลัส ที่จ่ายมากกว่าประกันภัยชั้น 3 นิดหน่อย แล้วซ่อมรถให้ด้วยเฉพาะเมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการชนกันจริงบนท้องถนน คอนเซปต์นี้ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงการประกันภัยได้มากขึ้น เพราะไม่ต้องแบกภาระหนักในเรื่องค่าใช้จ่าย และไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน ผมทำให้ประกันภัยกลายเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคเหมือนโทรศัพท์มือถือ ที่สามารถหาซื้อได้ง่ายและสะดวก จากเดิมที่บริษัทประกันภัยต้องเป็นผู้เสนอขาย เราจึงพลิกโฉมหน้าวงการเปลี่ยนรูปแบบเป็นผู้บริโภคต้องเดินเข้ามาขอซื้อประกันเอง สิ่งที่ผมเน้นมาตลอดคือ เราเป็นบริษัทขนาดเล็ก ถ้าอยากให้คนรู้จักและจดจำ เราต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ให้มาก
ในฐานะแม่ทัพใหญ่ ตั้งเป้าจะนำพา “เอเชียประกันภัย” เติบโตไปทิศทางไหน
(ยิ้ม) เราเป็นบริษัทรับประกันวินาศภัยทุกประเภท แต่จะเน้นการรับ ประกันภัยรถยนต์เป็นหลัก ทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ นอกจากนี้ก็ยังมีประกันอัคคีภัย การประกันภัยทางทะเลและการขนส่ง รวมถึงประกันภัยเบ็ดเตล็ดทั่วไป เช่น การประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล ตั้งแต่ผมเข้ามาเทกโอเวอร์ “เอเชียประกันภัย” มีพนักงานอยู่ 30 คน ตอนนี้พนักงานเพิ่มขึ้นเป็น 300 คนแล้ว พื้นฐานเดิมของบริษัทนี้ แม้จะมีขนาดเล็ก แต่ก็เป็นเล็กพริกขี้หนูนะครับ มีกำไรต่อเนื่องตลอด 30 ปี และไม่มีหนี้ตัวแดงเลย เมื่อผมเข้ามาบริหารงานก็พัฒนาจากยอดเบี้ยประกัน 40 ล้านบาทต่อปี จนถึงวันนี้เรามียอดเบี้ยประกัน 2,000 กว่าล้านบาทต่อปี และมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น 380% มีทุนจดทะเบียน 199 ล้านบาท เมื่อปี 2551 ผมจับมือร่วมทุนกับธนาคารเพื่อการพัฒนาธุรกิจอันดับหนึ่งของเยอรมันคือ ธนาคาร DEG เพื่อเสริมสร้างฐานะความมั่นคงทางการเงินและพัฒนาบริษัทให้มีศักยภาพมากขึ้นในการขยายกิจการ ผมคิดว่าเราน่าจะพร้อมนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในอีก 3 ปีข้างหน้า เมื่อดูจากศักยภาพของเราที่เติบโตขึ้นกว่า 30% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เฉพาะปี 2556 เรามียอดเบี้ยประกันรวม 1,950 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% จากปี 2555 คิดเป็นมูลค่า 480 ล้านบาท และในอนาคตตั้งเป้าว่าเราจะเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละ 35-40% กระทั่งสามารถขยับมาร์เก็ตแชร์ขึ้นไปอยู่ในกลุ่มท็อปเทน ภายในเวลา 3 ปี สร้างยอดเบี้ยประกันได้ถึงหลัก 4-5 พันล้านบาทต่อปี
อะไรคือ “ไม้เด็ด” ที่จะแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากยักษ์ใหญ่ในวงการ
เรายังคงเน้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆตลอดเวลา โดยจะคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆออกมาเขย่าวงการอีกแน่นอน ส่วนผลิตภัณฑ์เดิมที่เป็นจุดแข็งสร้างชื่อให้บริษัท เช่น ประกันภัยรถยนต์ ทั้ง 3 พลัส และ 2 พลัส ซึ่งกลายเป็น Generic name ก็จะเน้นขยายช่องทางการขายให้กว้างที่สุด โดยจะเพิ่มศูนย์ขยายงานทั่วประเทศอีก 680 แห่ง พร้อมกับเพิ่มศูนย์บริการทั่วประเทศให้ครอบคลุมทุกพื้นที่อีก 170 แห่ง เพื่อรองรับการให้บริการ และอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า นอกจากนี้ ผมยังเล็งตลาดกลุ่ม AEC ไว้ เพราะหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ในปี 2558 เชื่อแน่ว่า จะต้องมีแรงงานต่างด้าวหลั่งไหลเข้ามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นมาก ผมจึงเตรียมผลิตภัณฑ์ใหม่ไว้ขายประกันภัยสวัสดิการสำหรับคนต่างด้าว โดยจะให้ความคุ้มครองในกรณีที่เจ็บป่วย ทุพพลภาพ หรือสูญเสียชีวิต ผมยังคิดโครงการคุ้มครองสมาชิกสหกรณ์ครู ข้าราชการ และพนักงานรัฐ– วิสาหกิจทั่วประเทศ เพื่อให้เกิดความมั่นคงในชีวิต โดยมีต้นแบบมาจากกองทัพอเมริกาที่มีบริษัทประกันของตัวเอง เพื่อดูแลคุ้มครองทหารอเมริกันที่มีอยู่ 2-3 ล้านคน ลองคิดดูว่าคน 3 ล้านคน เอาเงินมาลงขันกันคนละร้อยดอลลาร์สหรัฐฯต่อคนต่อปี เราจะได้เม็ดเงินมหาศาลขนาดไหน ถ้า 1% ในนั้นเกิดประสบอุบัติเหตุเป็นอะไรไป ก็สามารถดูแลให้การรักษาได้อย่างสบายๆ คน 3 ล้านคน มาดูแลคน 3 พันคน เป็นเรื่องธรรมดามาก กองทัพบกของเมืองไทยน่าจะทำได้
วงการประกันภัยกลัวความสูญเสียประเภทไหนที่สุด
ถ้าเป็นภัยแบบรถยนต์ จ่ายประกันแค่หลักหมื่นหลักแสนเท่านั้น บริษัทรับทำประกันภัยรถยนต์ทำยังไงก็ไม่มีวันเจ๊งหรอก แต่ถ้าเป็นมหันตภัยใหญ่ๆ เช่น แผ่นดินไหว หรือโรงไฟฟ้าไหม้ ครั้งหนึ่งอย่างน้อยต้องจ่ายประกันเป็นร้อยล้านพันล้าน เจอแค่ครั้งเดียวก็เจ๊งแล้ว!! เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมาก็อ่วมกันหมด สร้างความเสียหายทั้งประเทศมากกว่า 4-5 พันล้านบาท เพราะมีคนทำประกันภัยน้ำท่วมไม่เกิน 20% กลายเป็นว่าตอนนี้ไม่มีบริษัทประกันภัยเจ้าไหนกล้าทำประกันภัยน้ำท่วมแล้ว จากเดิมประ– กันภัยน้ำท่วม, แผ่นดินไหว และภูเขาไฟระเบิด เป็นโปรโมชั่นไว้แถม
ยังมีโครงการอะไรมาเซอร์ไพรส์แฟนๆ “เอเชียประกันภัย” อีกไหมคะ
มื่อช่วงต้นปีนี้ เราเพิ่งเปิดตัวโครงการซีเอสอาร์ “เอเชีย สารวัตรห่วงหัว” ร่วมกับชมรมคนห่วงหัวในมูลนิธิเมาไม่ขับ เพื่อรณรงค์ให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รักษาชีวิตลูกน้อย ด้วยการสวมหมวกกันน็อกให้เด็กทุกครั้ง ก่อนขึ้นซ้อนมอเตอร์ไซค์ โดยตั้งเป้าแจกหมวกกันน็อกเด็ก 1 แสนใบ ทั่วประเทศ พร้อมออกโรดโชว์เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการสวมหมวกกันน็อกให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น จัดการแข่งขันชิงรางวัลค้นหาโรงเรียนหมวก กันน็อก 100% โดยมอบหมายให้สารวัตรนักเรียนคอยตรวจตราและดูแลกันเอง ตลอดจนถ่ายทอดความรู้ไปถึงผู้ปกครอง เพื่อให้เกิดความร่วมมือและสร้างเครือข่ายที่แข็งแรงในการปลูกจิตสำนึกระยะยาว ปัจจุบันมีมอเตอร์ไซค์อยู่บนท้องถนนถึง 19 ล้านคัน และเพิ่มจำนวนขึ้นปีละ 2 ล้านคันทุกๆปี แต่มีไม่ถึง 1 แสนคันที่ทำประกันภัยให้ผู้ขับขี่และตัวรถ ในฐานะบริษัทประกันภัยหัวก้าวหน้า ผมตั้งใจว่าจะผลักดันให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้มีความคุ้มครองอย่างทั่วถึงทั้งหมด เพื่อบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สิน
โลดแล่นทุกองศาชีวิต ตามที่คิดและต้องการ ต้องเป็นแฟนเอเชียประกันภัย!!
ที่มา : http://www.thairath.co.th/ จันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2557
เลขาธิการ คปภ. ปาฐกถาพิเศษ ในงานครบรอบ 48 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทย
19 พฤศจิกายน 2558 ทั่วไป