สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมนายหน้าประกันภัยไทย และสมาคมตัวแทนประกันชีวิตไทยและที่ปรึกษาทางการเงิน วางมาตรการเสริมความคุ้มครองให้กับประชาชน ยกระดับตัวแทน/นายหน้า ให้มีจรรยาบรรณในการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและขจัดตัวแทน/นายหน้าที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดเตรียมเผยรายชื่อผ่านสื่อเริ่ม 1 กรกฎาคม 2557เป็นต้นไป
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่าณ วันที่ 31 มีนาคม 2557 มีจำนวนตัวแทน/นายหน้าประกันภัย รวมทั้งสิ้น 461,585ราย แบ่งเป็นตัวแทนประกันชีวิต 270,599ราย ตัวแทนประกันวินาศภัย 23,322 ราย นายหน้าประกันชีวิต 77,557ราย และนายหน้าประกันวินาศภัย 90,107 ราย จากสถิติการรับประกันภัยจำแนกตามช่องทางการขายประกันภัย พบว่าช่องทางการขายผ่านตัวแทน/นายหน้าประกันภัย เป็นช่องทางสำคัญที่ทำรายได้สูงสุดให้แก่อุตสาหกรรมประกันภัย และเพื่อเป็นการพัฒนาศักยภาพสร้างความแข็งแกร่งให้กับตัวแทน/นายหน้าประกันภัยให้มีจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกันชีวิต (วินาศภัย) พ.ศ.2535 (แก้ไขเพิ่มเติม 2551) และเป็นไปตามกฎหมายกำหนด ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้ร่วมกับภาคธุรกิจประกันภัยกำหนดแนวทางในการเผยแพร่ข้อมูลของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพื่อให้ความรู้และปกป้องสาธารณชนในวงกว้าง
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้มีการนำข้อมูลของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดเช่น การรับชำระเบี้ยประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยแล้วมิได้นำส่งให้บริษัท กระทำการปลอมลายมือชื่อลงในใบคำขอเอาประกันภัย และดำเนินการขอเอาประกันภัยกับบริษัท โดยที่ผู้ถูกปลอมลายมือชื่อมิได้มีเจตนาทำสัญญาประกันภัย ซึ่งได้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตขึ้นบนเว็บไซต์ของสำนักงานฯ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบสถานะของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยเพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปสำนักงาน คปภ. จะมีมาตรการที่เข้มงวดขึ้นอีกโดยการเปิดเผยรายชื่อและพฤติกรรมในการกระทำความผิดของตัวแทน/นายหน้าประกันภัยที่ถูกเพิกถอนใบอนุญาต เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน สำนักงาน คปภ. ได้มุ่งเน้นการให้บริการด้วยความรวดเร็ว เป็นธรรม และโปร่งใส บนฐานของข้อมูลที่ครบถ้วน เข้าใจง่าย และเข้าถึงง่าย เพื่อให้ประชาชนและผู้ประกอบการใช้ประกอบการเลือกซื้อกรมธรรม์ประกันภัย การที่ประชาชนมีข้อมูลที่ครบถ้วนและรับรู้สิทธิประโยชน์ ข้อยกเว้น เงื่อนไขด้านการประกันภัยของตนเองได้ถือเป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพมากที่สุดในการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้กับประชาชนส่วนการเปิดเผยรายชื่อผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวจะผลักดันให้บริษัทประกันภัยหันมาเข้มงวดกับตัวแทนในสังกัด และพัฒนาให้เกิดการแข่งขันทางด้านคุณภาพการให้บริการกับประชาชนและจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัยต่อไป
<pal; background-origin:="" initial;="" background-clip:="" background-position:="" background-repeat:="" initial;"="">
ที่มา : คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พุธที่ 28 พฤษภาคม 2557
เลขาธิการ คปภ. ปาฐกถาพิเศษ ในงานครบรอบ 48 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทย
19 พฤศจิกายน 2558 ทั่วไป