แผ่นดินไหว 6.3 ริคเตอร์ที่จังหวัดเชียงราย ถือเป็นแผ่นดินไหวที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะได้สร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นที่พักอาศัย วัดวาอาราม ต่างได้รับเสียหายเป็นจำนวนมาก ทำให้หลายๆ ฝ่ายออกมากระตุ้นให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายตื่นตัวในการทำประกันภัยอย่างต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่ดูแลเรื่องความคุ้มครองและดูแลธุรกิจประกันภัยโดยเฉพาะ จึงได้ออกมากระตุ้นจิตสำนึก เชิญชวนทุกครอบครัวหันมาให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยแผ่นดินไหว
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่ได้เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริคเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา ซึ่งมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ที่ อ.พาน จ.เชียงราย ความลึกจากแผ่นดินประมาณ 6 กิโลเมตร โดยตลอดทั้งคืนที่ผ่านมายังคงเกิดแรงสั่นไหวหรืออาฟเตอร์ช็อกอีกกว่า 100 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย ผู้ได้รับบาดเจ็บ 23 ราย ทรัพย์สินเสียหายใน 7 อำเภอ อันได้แก่ สถานที่ราชการ อาคาร บ้านเรือน วัด และโรงเรียน โดยได้รับแจ้งความเสียหายด้านทรัพย์สินที่ได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยทั้งสิ้น 8 บริษัท รวมจำนวน 110 ราย ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าความเสียหายนั้น
ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยกรมธรรม์ประกันภัยหลายประเภทที่ให้ความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหว ได้แก่ กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่มีการซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมสำหรับภัยแผ่นดินไหว และกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจ (ประเภท 1)
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ขณะนี้ได้มอบหมายให้สำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงที่ได้รับผลกระทบ ประสานให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นการเร่งด่วนแล้ว ทั้งนี้ ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเกิดขึ้นแล้วก่อให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง แต่เราสามารถบรรเทาความเดือดร้อนได้ด้วยการทำประกันภัย ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่ง จึงขอแนะนำให้ประชาชนและผู้ประกอบการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของท่าน โดยก่อนตัดสินใจซื้อควรศึกษาเงื่อนไขความคุ้มครอง และรายละเอียดของข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ประกันภัยให้เข้าใจเสียก่อน เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองที่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยมากที่สุด หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 หรือ www.oic.or.th
ขณะที่ น.ส.วราวรรณ เวชชสัสถ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า คปภ.ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ เตรียมจะปรับปรุงแบบประกันภัยสำหรับที่อยู่อาศัยแบบมาตรฐาน ให้พ่วงความคุ้มครองความเสียหายจากภัยธรรมชาติเข้าไปด้วย 4 ภัย คือ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ลมพายุ และลูกเห็บ เนื่องจากถือเป็นความเสี่ยงที่เริ่มมีให้เห็นมากขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดที่เพิ่งมีเหตุน้ำท่วมใหญ่และแผ่นดินไหว
ในเบื้องต้นได้กำหนดวงเงินความคุ้มครองกรณีความเสียหายจากภัยธรรมชาติไว้ที่ 20,000 บาท โดยคิดค่าเบี้ยส่วนเพิ่มสำหรับความคุ้มครองกลุ่มนี้อีก 100 บาท/ปี ซึ่งจะทำให้ประชาชนที่ซื้อประกันภัยที่อยู่อาศัยแบบมาตรฐานจะได้รับความคุ้มครองเพิ่มขึ้น จากปกติที่ได้ความคุ้มครอง 6 ภัยพื้นฐานอยู่แล้ว คือ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า การระเบิดของก๊าซที่ใช้เพื่อที่อยู่อาศัย ภัยจากยานพาหนะต่างๆ ภัยจากอากาศยาน และภัยจากน้ำ (ไม่รวมน้ำท่วม)
"เดิมประกันภัยที่อยู่อาศัยฉบับมาตรฐาน จะคุ้มครอง 6 ภัยพื้นฐาน บวกกับประกันภัยพิบัติ ซึ่งมีเงื่อนไขกำหนด เช่น กรณีแผ่นดินไหวต้องรุนแรงเกิน 7 ริคเตอร์ขึ้นไป หรือกรณีภัยลมพายุต้องมีความเร็วลมเกิน 120 กิโลเมตร/ชั่วโมงขึ้นไป จึงจะคุ้มครอง แต่ถ้ายังไม่ถึงระดับดังกล่าวก็อาจมี ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว เราก็เห็นว่าควรปรับใหม่ให้เป็นคุ้มครองภัยธรรมชาติ และกำหนดนิยามความคุ้มครองใหม่ ให้ลดต่ำลงกว่าเกณฑ์ของประกันภัยพิบัติแบบเดิม"
น.ส.วราวรรณ กล่าวอีกว่า รูปแบบและเงื่อนไขของกรมธรรม์ใหม่ดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมอีก ความคุ้มครองและราคาเบี้ยเบื้องต้นจึงยังอาจจะเปลี่ยนแปลงได้ แต่จะเร่งหาข้อสรุปเพื่อออกมาเป็นทางเลือกการบริหารความเสี่ยงและบรรเทาความเสียหาย แก่ผู้บริโภค คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3 นี้ และจากนั้นก็จะเริ่มเปิดให้บริษัทประกันภัยสามารถทำตลาดได้
แหล่งข่าวจากวงการประกันภัยรายหนึ่งกล่าวว่า การขายประกันภัยที่ขยายความคุ้มครองไปถึงภัยธรรมชาติในเวลานี้ น่าจะยังเปิดขายตามปกติ ยกเว้นพื้นที่จังหวัดเชียงราย เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวและอาฟเตอร์ช็อกยังไม่หมด แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ไปอีกราว 1-2 สัปดาห์ ก็น่าจะเริ่มกลับมารับประกันภัยได้เช่นกัน แต่ราคาเบี้ยอาจจะปรับเพิ่มขึ้นบ้าง ระดับ 20-30%
อย่างไรก็ตาม เขาย้ำว่าสถานการณ์รับประกันภัยธรรมชาติในปัจจุบันไม่เหมือนในอดีตแล้ว หลังจากเกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 ทำให้ทุกบริษัทปรับลดวงเงินความคุ้มครองภัยธรรมชาติลงจากทุนประกันหลัก หรือเรียกว่ากำหนดซับลิมิต ซึ่งส่วนใหญ่จะให้ซับลิมิตไม่เกิน 10% ของทุนประกัน สูงสุดไม่เกิน 50 ล้านบาท และในพื้นที่เสี่ยงก็อาจจะกำหนดวงเงินแตกต่างกันไปตามนโยบายของแต่ละบริษัท
ที่มา www.banmuang.co.th พฤหัสบดีที่ 15 พฤษภาคม 2557
บูพาฯ วางไทยศูนย์กลางตลาดประกันสุขภาพเออีซี
09 กุมภาพันธ์ 2558 ทั่วไปคปภ.เผยประกันจ่ายสินไหมอุบัติเหตุปีใหม่กว่า 800 ล.
06 กุมภาพันธ์ 2558 ทั่วไป