ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับภาครัฐในการดำเนินการโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 13 ในปี 2567 นี้ โดยการประกันภัยข้าวนาปี เริ่มต้นดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี 2554 สามารถช่วยให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยทางธรรมชาติรวมถึงภัยจากศัตรูพืชและโรคระบาด ที่นับวันจะยิ่งมีความแปรปรวนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปี (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 16 กรกฎาคม 2567) พบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2565 รวม 12 ปี ได้ให้ความคุ้มครองพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีแล้วกว่า 230 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 18,560 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 14,612 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทนร้อยละ 78.73
โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2567 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยกำหนดเป้าหมายของพื้นที่รับประกันภัยทั้งหมดประมาณ 21 ล้านไร่ ซึ่งภาครัฐให้การสนับสนุนค่าเบี้ยประกันภัย จำนวนทั้งสิ้น 2,302.16 ล้านบาท ประกอบด้วย วงเงินที่รัฐบาลอุดหนุน จำนวน 1,612.16 ล้านบาท และวงเงินที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. จำนวน 690 ล้านบาท
ในปีนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการรับประกันภัยโครงการประภัยข้าวนาปีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริษัทรับประกันภัยต่อจากทั่วโลกเข้ามาร่วมในโครงการ เพื่อสนองต่อนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้เกษตรกรได้รับการช่วยเหลือและบรรเทาความเสียหายจากภัยต่าง ๆ โดยมีบริษัทประกันวินาศภัยเข้าร่วมรับประกันภัย จำนวน 12 บริษัท ได้แก่
1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย
9. บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท เออร์โกประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
12. บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน)
สำหรับการประกันภัยข้าวนาปีให้ความคุ้มครองภัยต่าง ๆ รวม 8 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ภัยจากช้างป่า ภัยศัตรูพืชและโรคระบาด โดยมีวงเงินความคุ้มครองและเบี้ยประกันภัย แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1. ความคุ้มครองการประกันภัยพื้นฐาน (Tier 1) มีวงเงินความคุ้มครอง 1,190 บาทต่อไร่ ยกเว้น ภัยศัตรูพืชและโรคระบาด มีวงเงินความคุ้มครอง จำนวน 595 บาทต่อไร่ โดยมีเบี้ยประกันภัย ดังนี้
(1) สำหรับลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. เบี้ยประกันภัย 115 บาทต่อไร่ (สำหรับทุกพื้นที่ความเสี่ยงภัย) ซึ่งในส่วนนี้ได้รับการอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยจากรัฐบาลและจาก ธ.ก.ส. โดยเกษตรกรไม่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย
(2) สำหรับเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่นำร่อง เบี้ยประกันภัย 70 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 65 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยเพียง 5 บาทต่อไร่เท่านั้น
(3) สำหรับเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง เบี้ยประกันภัย 199 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 69 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย 130 บาทต่อไร่
(4) สำหรับเกษตรกรทั่วไปในพื้นที่เสี่ยงภัยสูง เบี้ยประกันภัย 218 บาทต่อไร่ รัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 69 บาทต่อไร่ เกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัย 149 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ ภาครัฐได้ให้การอุดหนุนในส่วนของอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่มในทุกพื้นที่ที่มีการเอาประกันภัยด้วย
2. ความคุ้มครองการประกันภัยส่วนเพิ่ม (Tier 2) เป็นการซื้อประกันภัยเพิ่มเติมจากการประกันภัยพื้นฐาน โดยเกษตรกรต้องชำระเบี้ยประกันภัยเองทั้งหมด ซึ่งมีวงเงินความคุ้มครอง 240 บาทต่อไร่ ยกเว้นภัยศัตรูพืชและโรคระบาด มีวงเงินความคุ้มครอง 120 บาทต่อไร่ ทั้งนี้เบี้ยประกันภัยยังไม่รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยมีเบี้ยประกัยภัย ดังนี้
(1) พื้นที่นำร่องและพื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 27 บาทต่อไร่
(2) พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 60 บาทต่อไร่
(3) พื้นที่เสี่ยงภัยสูง 110 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยได้ที่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขาทั่วประเทศ หรือ ซื้อผ่านแอปพลิเคชัน A INSURE ของ ธ.ก.ส. ตั้งแต่วันนี้ ถึง วันที่ 31 กรกฎาคม 2567 (ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ สามารถซื้อได้ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567) หรือ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่สายด่วน ประกันภัยพืชผล สมาคมประกันวินาศภัยไทย โทร. 06 1404 4422 และ 06 1395 9000
"สมาคมฯ มีความยินดีและพร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และช่วยให้เกษตรกรมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ อีกทั้งได้มีการนำระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการขับเคลื่อนโครงการประกันภัยพืชผลให้เกษตรกรได้รับความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การประกอบอาชีพการเกษตรในประเทศไทยนั้นมีความยั่งยืนต่อไป" นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวทิ้งท้าย
แถลงข่าวโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน ปีที่ 2
17 กรกฎาคม 2561 กิจกรรมส่วนกลาง