สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ ในรอบ 1 ปี ในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัย พร้อมมุ่งมั่นผลักดันพันธกิจหลักทั้ง 4 ด้าน ให้เกิดผลสําเร็จ ย้ำเดินหน้าทำแผน Quick Win สร้างผลงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 เป็นต้นมา คณะกรรมการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย ประจำปี 2566-2568 ได้ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์สมาคมฯ ที่กำหนด โดยมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ยึดนโยบายในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐและภาคเอกชน เน้นความเป็นมืออาชีพ สร้างมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจโปร่งใส ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ โดยการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา เราสามารถขับเคลื่อนสมาคมฯ และธุรกิจประกันวินาศภัยสู่การเปลี่ยนแปลง ก้าวหน้า และสร้างคุณค่าตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รวมถึงได้รับการยอมรับและไว้วางใจจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดําเนินโครงการและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อผลักดันให้เกิดผลสําเร็จตามพันธกิจทั้ง 4 ด้าน เพื่อทําหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ดังนี้
พันธกิจที่ 1 ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการประกันวินาศภัยและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับให้ประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องมากขึ้น ตลอดจนขับเคลื่อน ESG (Environment, Social and Governance) ในธุรกิจประกันวินาศภัย ได้แก่
การสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นความจำเป็นของการประกันภัย
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการประกันวินาศภัยและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับให้ประชาชนทั่วไปและผู้เกี่ยวข้องมากขึ้น ประกอบด้วย การแถลงข่าวประจำปีของสมาคมฯ และประเด็นสำคัญ ๆ ของธุรกิจประกันวินาศภัย การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนทางออนไลน์ ในรูปแบบสื่อ infographic ที่เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเป็นจำนวนมาก
การขับเคลื่อน ESG (Environment Social and Governance) ในธุรกิจประกันวินาศภัยไทย
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้จัดทำแนวทางการประยุกต์ใช้ ESG ในมิติต่าง ๆ ให้เข้ากับกิจกรรมในธุรกิจประกันวินาศภัย และกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อให้ ESG เข้ากับกลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงศึกษาข้อมูล และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับ Carbon Credit เพื่อเป็นแนวทางในการปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมให้กับธุรกิจประกันภัย โดยการสร้างความเข้าใจผลกระทบของการซื้อขายปริมาณก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนเครดิต) ที่มีต่อภาคขนส่งและโลจิสติกส์ พร้อมติดตามผลการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และขยายผลการใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชุมชน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นต้นแบบการบริหารจัดการน้ำใต้ดินในพื้นที่แห้งแล้งที่อยู่นอกเขตชลประทาน แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแหล่งน้ำที่ใช้ในการเกษตร เปลี่ยนพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่แห้งแล้งเป็นทุ่งกุลายิ้มได้ที่มีน้ำใช้ในการเกษตรอย่างเพียงพอและยั่งยืน
พันธกิจที่ 2 ยกระดับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐ และเอกชน
สมาคมประกันวินาศภัยไทย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชน สนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจและการมุ่งสู่การเปิดเสรีในบางมิติ และการผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการทำประกันวินาศภัยในทุกระดับและทุกมิติเพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยงและแบ่งเบาภาระของรัฐบาล ได้แก่
1. โครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2567/68 โดย สมาคมฯ ได้จัดทํากรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี (ขั้นตอนอยู่ระหว่างการดำเนินการ) ปีการผลิต 2567 และยื่นขอรับความเห็นแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย ไปยังนายทะเบียน สํานักงาน คปภ. ซึ่งได้นําเสนอรูปแบบการประกันภัยที่ได้ประโยชน์สูงสุดและเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสม รวมถึงเพื่อเป็นการสนองนโยบายของภาครัฐ ในการส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการทําประกันภัยพืชผล
2. โครงการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในระหว่างเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย จากนโยบายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ Thailand Traveller Fee (TTF) หรือที่เรียกว่า ค่าเหยียบแผ่นดิน โดยสมาคมฯ ได้นําเสนอความคุ้มครองประกันภัยนักท่องเที่ยวต่างชาติฯ ไม่น้อยกว่ากองทุนเยียวยานักท่องเที่ยวที่ได้มีการยกเลิกไปแล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งจะสรุปและนําเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในเดือนกรกฎาคม 2567 นี้
3. โครงการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลตรวจสอบการจัดทำประกันภัยรถภาคบังคับ ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก โดยคณะกรรมการประกันภัยยานยนต์ ซึ่งได้ติดตามการนำส่งข้อมูลจากบริษัทประกันวินาศภัยเพื่อนำส่งข้อมูลเข้าระบบการรายงานข้อมูลการรับประกันภัยรถภาคบังคับ CMIS แบบเรียลไทม์อย่างใกล้ชิดเพื่อรองรับการดำเนินการตรวจสอบข้อมูลการรับประกันภัย พ.ร.บ. โดยกรมการขนส่งทางบกได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้การตรวจสอบข้อมูลผู้ประสบภัยจากรถและข้อมูลการทำประกันภัยรถภาคบังคับ (พ.ร.บ.) และทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากรถสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
4. การช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยด้วยการใช้ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในระบบประกันภัยพืชผล ระหว่าง กรมส่งเสริมการเกษตร สมาคมประกันวินาศภัยไทย และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) โดยการนำเทคโนโลยีดาวเทียม ระบบการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และระบบ AI & Machine Learning มาใช้ในการประกันภัยพืชผล โดยการวิเคราะห์ข้อมูลและตรวจสอบความเสียหายเพื่อดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งได้เริ่มนำร่องในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วย ขอนแก่น นครราชสีมา นครสวรรค์ นครศรีธรรมราช ร้อยเอ็ด สุโขทัย และได้มีการขยายพื้นที่การทดสอบเพิ่มเป็น 16 จังหวัด
5. โครงการ Utilization of Insurance Bureau System Data เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลกลางประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) ในการพัฒนาระบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยและการให้บริการลูกค้า รวมถึงประชาชนในหลากหลายมิติ โดยผลักดันให้ภาคธุรกิจสามารถเข้าใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูล IBS เพื่อนําข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ภาพรวมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่ง สมาคมฯ และ สํานักงาน คปภ. ได้ร่วมกันจัดงาน Kickoff การใช้ข้อมูลจากระบบ Non-Life IBS และพร้อมส่งมอบรายงานให้กลับบริษัทสมาชิก
พันธกิจที่ 3 พัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจประกันภัยให้เป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล
สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินโครงการและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจประกันภัยให้เป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้บุคลากรให้เข้าสู่ระบบธุรกิจประกันวินาศภัย และพัฒนาบุคลากรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และการปรับเปลี่ยนให้สมาคมฯ เป็นองค์กรที่ทันสมัย เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การพัฒนาบุคลากรในธุรกิจประกันภัย ผ่านโครงการ Insurance Professionalism & Self-Empowering Project (IPSP) การอบรมโครงการพัฒนาผู้บริหารธุรกิจประกันวินาศภัย รุ่นที่ 27 (IMDP 27) การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ประกันภัย ด้านกฎหมาย และมาตรฐานทางด้านบัญชี ผ่านการอบรมและสัมมนาต่าง ๆ การเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และแนวทางการวางระบบกำกับดูแลข้อมูลสำหรับธุรกิจประกันภัย การอบรม E-Learning หลักสูตรการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และการป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายของสถาบันการเงิน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรของสมาคมฯ ในการทํางานเชิงรุก ทั้ง Soft Skill & Hard Skill เพื่อนําองค์กรไปสู่ “Modern & Smart Organization”
พันธกิจที่ 4 เสริมสร้างระบบนิเวศประกันภัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ
สมาคมประกันวินาศภัยไทย สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชน โดยสนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจ พร้อมจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ผู้ประกอบการธุรกิจประกันภัยของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้ครอบคลุมทุกด้าน (PDPA Guideline for Non-life Insurance Industry) เพื่อสร้างความเข้าใจให้บริษัทสมาชิกสามารถปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างสมบูรณ์
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้เตรียมความพร้อมในการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (TFRS17) ผลกระทบทางด้านภาษีอากรจากมาตรฐาน TFRS 17 ของธุรกิจประกันวินาศภัยให้กับบริษัทสมาชิก และผลักดันการพัฒนาระบบการจัดการฉ้อฉลและแก้ไขปัญหาการฉ้อฉลประกันกัยของธุรกิจประกันวินาศภัย จัดทำโครงการพัฒนาระบบแผนที่และแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว รวมถึงจัดทำระบบศูนย์กลางตรวจสอบเพื่อป้องกันการฉ้อฉลประกันภัยสุขภาพ พร้อมศึกษาพัฒนาและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ กรมธรรม์ประกันภัยรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (BEV) และจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยชดเชยผลประโยชน์จากอุบัติเหตุหรือการใช้รถยนต์ (Motor Add on) ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพ และการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัย
สมาคมฯ ภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารฯ ประจําปี 2566-2568 ได้ร่วมกันขับเคลื่อนแผน Quick Win ตามทิศทางของแผนยุทธศาสตร์สมาคมฯ ซึ่งเห็นผลก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมตามที่กําหนด ทั้งการควบรวมสํานักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (Insurance Premium Rating Bureau: IPRB) และบริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าเนท จํากัด (Thai Insurers Datanet Co., Ltd.: TID) เป็นบริษัทวิจัยและพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยไทย จํากัด หรือ TIRD การผลักดันให้เกิดการกํากับดูแลกันเองของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยและการเปิดเสรีธุรกิจประกันวินาศภัยในบางมิติ การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย (Regulatory Guillotine) กับ สํานักงาน คปภ. การควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของการประกันภัยสุขภาพ และศึกษามาตรการเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษี รวมถึงการจัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย และการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยในเชิงรุก
อย่างไรก็ตาม ตลอด 1 ปี ในการขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัย สมาคมฯ มุ่งมั่นเดินหน้าสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนยุทธศาสตร์ โดยมีคณะกรรมการประกันภัยสาขาต่าง ๆ รวม 8 สาขา ที่ร่วมกันดําเนินการส่งเสริมผลักดันมาตรการต่าง ๆ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งบริษัทสมาชิก ประชาชน สังคม หน่วยงานกํากับดูแล หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยผลในการดําเนินงานที่เกิดขึ้นนั้นจะเป็นแนวทางและเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นถึงชะตา โอกาส และเป้าหมายในการก้าวไปสู่การเติบโตก้าวหน้าของธุรกิจประกันวินาศภัย ซึ่งสมาคมฯ ยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงต่อไป
เสวนา ประกันภัย กำกับดูแลอย่างไร...ให้โดนใจประชาชน
17 พฤษภาคม 2559 กิจกรรมส่วนกลาง