วินาศภัยบรรเทาได้ ด้วยการประกันภัย

ข่าวสารและกิจกรรม

สมาคมประกันวินาศภัยไทย เทคแอคชั่นกรณีบริษัทต่างชาติขายประกันภัยในไทยโดยไม่มีใบอนุญาต หวั่นกระทบประชาชนวงกว้าง พร้อมแจ้งเตือนประชาชนควรตรวจสอบก่อนซื้อประกันภัยออนไลน์

12 กรกฎาคม 2566 กิจกรรมส่วนกลาง

          ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีบริษัทประกันภัยต่างชาติขายประกันภัยสัตว์เลี้ยงผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่มีใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย โดยมีประชาชนจำนวนมากซื้อประกันภัยและได้รับความเดือดร้อนจากการเคลมประกันภัยดังกล่าว ตามที่ปรากฏเป็นข่าวและเป็นประเด็นเผยแพร่ทางสื่อโซเชียลมีเดียในช่วงที่ผ่านมา 


          จากข้อมูลในเบื้องต้นพบว่าประเด็นเรื่องของบริษัทประกันภัยต่างชาติเข้ามาขายประกันภัยในประเทศไทยผ่านช่องทางออนไลน์ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาตเป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันวินาศภัย ส่วนใหญ่จะเป็นการเสนอขายผ่านทางหน้าเว็บไซต์ที่มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ และมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ตรงใจผู้บริโภค โดยบริษัทเหล่านี้ไม่มีใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย หรือไม่มีใบอนุญาตจากนายทะเบียนให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยแต่อย่างใด ซึ่งในระยะแรกกลุ่มเหล่านี้จะสร้างความน่าเชื่อถือโดยมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยตามที่ได้มีการยื่นเคลมประกันภัยเข้ามาอย่างครบถ้วน รวดเร็ว ต่อมาเมื่อมีการเคลมเข้ามาเป็นจำนวนมากทำให้การเคลมเกิดปัญหาและสร้างความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและยังกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยไทยเป็นอย่างมาก


          จากกรณีดังกล่าวสมาคมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจหรือเพิกเฉยต่อการกระทำในลักษณะเช่นนี้ และมองว่าเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมประกันภัยที่ควรให้ความสำคัญและหยิบยกมาประเด็นเพื่อร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา รวมถึงส่งสัญญาณเตือนเพื่อป้องกันหรือป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีกต่อไป โดยมุมมองของสมาคมฯ เราไม่ได้จำกัดว่าบริษัทต่างชาติไม่สามารถเข้ามาขายประกันภัยในประเทศไทยได้ แต่ต้องมาแบบถูกกฎหมายและผู้เอาประกันภัยต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยเช่นเดียวกันกับที่ซื้อผ่านบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยอย่างถูกต้อง และหากเกิดปัญหาผู้เอาประกันภัยต้องได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์อย่างครบถ้วนและเป็นธรรม ที่สำคัญเราต้องการให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ซื้อไปไม่ว่าจะซื้อจากช่องทางไหนก็ตาม 


          ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้มีการตั้งคณะทำงานที่จะมาศึกษาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมและถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้เตรียมบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน คปภ. กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI เป็นต้น ในการหารือร่วมกันเพื่อให้เกิดการป้องกัน ป้องปรามบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการหลอกขายประกันภัยในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง รวมถึงการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับประชาชนในการเลือกซื้อประกันภัยผ่านอินเทอร์เน็ต หรือช่องทางออนไลน์ ควรศึกษาข้อมูลการทำประกันภัยให้ละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ ดังนี้
          1. ซื้อประกันภัยผ่านบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบริษัทไทยหรือบริษัทต่างชาติที่จดทะเบียนและได้รับใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย เท่านั้น เพราะหากเกิดปัญหาเรื่องการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยสามารถดำเนินการเรียกร้องโดยได้รับการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายไทย
          2. ซื้อประกันภัยผ่านตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน คปภ. และในการจ่ายเงินค่าเบี้ยประกันภัยให้ขอใบเสร็จรับเงินและกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อเป็นหลักฐานทุกครั้ง เพื่อช่วยให้ผู้เอาประกันภัยได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยอย่างครบถ้วน
          3. กรณีที่ตัวแทนหรือนายหน้าประกันภัยมีการกล่าวอ้างถึงบริษัทที่รับประกันภัย ให้ตรวจสอบกับบริษัทรับประกันภัยดังกล่าวว่าตัวแทนหรือนายหน้าฯ ที่ขายประกันภัยนั้นสังกัดหรือเป็นคู่สัญญากับทางบริษัทฯ ดังกล่าวจริงหรือไม่ โดยประชาชนสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทประกันภัยที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยในประเทศไทย ได้ที่เว็บไซต์กูรูประกันภัย (https://guruprakanphai.oic.or.th) หรือเว็บไซต์สมาคมประกันวินาศภัยไทย (www.tgia.org) ได้ตลอด 24 ชั่วโมง


          ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวย้ำว่า จากกรณีดังกล่าวนี้ สมาคมฯ ต้องการส่งสัญญาณเพื่อแจ้งเตือนให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบก่อนการซื้อประกันภัยผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อช่วยป้องกันความเสียหายจากการถูกหลอกลวง และมั่นใจได้ว่าท่านจะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งสมาคมฯ เชื่อมั่นว่าการบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานในการเสนอขายประกันภัยโดยบริษัทต่างชาติให้กับประชาชนคนไทยนั้นมีความถูกต้องเป็นไปตามกฎหมายและที่สำคัญประชาชนผู้ที่ซื้อประกันภัยต้องได้รับความคุ้มครองอย่างครบถ้วนและเป็นธรรมในที่สุด