นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ตามที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับภาครัฐในการดำเนินการโครงการประกันภัยพืชผล ซึ่งได้ขับเคลื่อนมาอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่ 12 ในปี 2565 นี้ โดยเริ่มต้นด้วยการประกันภัยข้าวนาปี ในปี 2554 และการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2562 เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากภัยทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืช ซึ่งนับวันจะยิ่งมีความแปรปรวนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศนั้น
จากข้อมูลผลการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปี (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565) พบว่า ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2554 จนถึงปี 2564 รวม 11 ปี ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวนาปีเป็นจำนวน 203.9 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 16,492 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 12,911 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน 78% ส่วนผลการรับประกันภัยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีพื้นที่รับประกันภัยรวม 43.5 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทั่วประเทศรวม 60.3 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 72% หรือครอบคลุมเกษตรกรราว 3.7 ล้านครัวเรือน โดยมีเบี้ยประกันภัยรวม 3,568 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 1,538 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน 43%
ทางด้านโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2562 นั้นพบว่า ผลการดำเนินงานรวม 3 ปี (ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565) ได้คุ้มครองพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นจำนวน 5.6 ล้านไร่ทั่วประเทศ มีเบี้ยประกันภัยเข้าสู่ระบบประกันภัย จำนวน 483 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 424 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน 88% ส่วนผลการรับประกันภัยในปี 2564 ที่ผ่านมา มีพื้นที่รับประกันภัยรวมกว่า 1.6 ล้านไร่ จากพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศรวม 6.0 ล้านไร่ คิดเป็นอัตราการเข้าถึง 27% หรือครอบคลุมเกษตรกรราว 84,819 ครัวเรือน โดยมีเบี้ยประกันภัยรวม 178 ล้านบาท และจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับเกษตรกรไปแล้ว จำนวน 40 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราส่วนค่าสินไหมทดแทน 23%
สำหรับการดำเนินงานของโครงการประกันภัยข้าวนาปีและโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในปี 2565 นี้ มีบริษัทสมาชิกสมาคมฯ เข้าร่วมรับประกันภัยรวม 14 บริษัท ได้แก่
1. บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน)
2. บริษัท กรุงไทยพานิชประกันภัย จำกัด (มหาชน)
3. บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
4. บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
5. บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน)
6. บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน)
7. บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน)
8. บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน)
9. บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน)
10. บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน)
11. บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันซ์ จำกัด สาขาประเทศไทย
12. บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
13. บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน)
14. บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน)
"โครงการประกันภัยพืชผล เป็นโครงการที่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นในการทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการบริหารความเสี่ยงให้กับภาคเกษตรกรรมของไทยโดยให้ความร่วมมือและตอบสนองนโยบายของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเกษตรกรไทยได้มีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเพื่อบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยทางธรรมชาติและภัยจากศัตรูพืชแล้ว จะช่วยให้สามารถทำการเกษตรได้อย่างมั่นใจ มีความมั่นคงในการประกอบอาชีพมากยิ่งขึ้น และถึงแม้ว่าในบางปีบริษัทประกันวินาศภัยจะประสบกับภาวะขาดทุนจากการรับประกันภัยไปบ้าง แต่ภาคธุรกิจประกันวินาศภัยยังคงพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการนี้ต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับภาคเกษตรกรรมของไทย" นายอานนท์ วังวสุ กล่าวทิ้งท้าย
ลงพื้นที่พบเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี
18 มิถุนายน 2562 โครงการประกันภัยพืชผล