วินาศภัยบรรเทาได้ ด้วยการประกันภัย

ข่าวสารและกิจกรรม

สำนักงาน คปภ. ศึกษาดูงานระบบ e-Arbitration สำนักงานอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย

สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดย นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร และ นายศุภชัย ดิษฐวิบูลย์ เลขาธิการ สำนักงานอนุญาโตตุลาการ ให้การต้อนรับ นายชัยยุทธ มังศรี ผู้ช่วยเลขาธิการ สายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่มาศึกษาดูงานเกี่ยวกับการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการดำเนินการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ (e-Arbitration) ของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564
 
สำนักงานอนุญาโตตุลาการ เป็นหน่วยงานหนึ่งของสมาคมฯ ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2537 นับเป็นเวลายาวนานกว่า 27 ปีแล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อระงับข้อพิพาททางแพ่งโดยอนุญาโตตุลาการระหว่างบริษัทสมาชิกด้วยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม ซึ่งได้รับการยอมรับจากบริษัทสมาชิกในการใช้บริการระงับข้อพิพาทได้เป็นอย่างดี
 
ปัจจุบันสำนักงานอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย มีอนุญาโตตุลาการ จำนวน 4 ท่าน คือ
1. นายไพฑูรย์ เนติโพธิ์ อนุญาโตตุลาการ (อดีตอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา)
2. นายโยธิน ฉวาง อนุญาโตตุลาการ (อดีตรองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา)
3. นายจุมพล ณ สงขลา อนุญาโตตุลาการ (อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาเเละตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
4. นายพิชิต คำแฝง อนุญาโตตุลาการ (อดีตรองประธานศาลฎีกา)

สำหรับระบบ e-Arbitration ของสำนักงานอนุญาโตตุลาการ สมาคมประกันวินาศภัยไทย นั้นเป็นระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เริ่มนำมาใช้ในปี 2561 ซึ่งช่วยประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และช่วยอำนวยความสะดวกในการยื่นคำเสนอข้อพิพาทของบริษัทสมาชิก โดยใช้เวลายื่นคำเสนอข้อพิพาทผ่านระบบฯ เพียง 15-20 นาที ซึ่งเมื่อดำเนินการยื่นในระบบเสร็จสมบูรณ์แล้ว เจ้าหน้าที่รับคำเสนอข้อพิพาทจะตรวจอนุมัติรับคำเสนอฯ และระบบจะส่งอีเมลสำเนาคำเสนอฯ รวมถึงวันนัดประชุมไกล่เกลี่ยครั้งแรกไปให้คู่กรณีทราบ ช่วยประหยัดเวลาที่ต้องเดินทางมายังสำนักงานอนุญาโตตุลาการ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ประหยัดทรัพยากรกระดาษและลดค่าใช้จ่ายในการถ่ายสำเนาเอกสารให้สำนักงานฯ และคู่กรณีในการยื่นคำเสนอข้อพิพาท และผู้ใช้งานยังสามารถตรวจสอบวันนัด ขอเลื่อนการไกล่เกลี่ย ตรวจสอบความเคลื่อนไหวของแต่ละสำนวนได้ที่บริษัทของตนเอง เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาสามารถดูผลคำชี้ขาดสัญญาประนอมข้อพิพาทและรายงานถอนคำเสนอฯ หรือรายงานอื่นรวมถึงเอกสารต่าง ๆ ในสำนวนได้ในระบบฯ โดยสามารถตรวจสอบและพิมพ์เอกสารต่าง ๆ ที่บริษัทของตนเอง นอกจากนี้ ทางบริษัทยังสามารถเก็บรวบรวมข้อมูลสถิติต่าง ๆ ในการยื่นคำเสนอข้อพิพาทของบริษัท ทราบจำนวนเรื่องที่บริษัทยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสำนักงานฯ จำนวนเรื่องของคู่กรณี จำนวนทุนทรัพย์รวม ซึ่งผู้บริหารของบริษัทสามารถทราบสถานะความเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ว่าเป็นของบริษัทใดบ้าง เพราะเหตุใด สามารถนำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์ปรับกลยุทธ์ในทางธุรกิจและลดค่าใช้จ่ายของบริษัทได้อีกทางหนึ่ง

ปัจจุบันมีสมาชิกบริษัทประกันวินาศภัยที่ร่วมลงนามระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการเข้าใช้ระบบ e-Arbitration ของสำนักงานฯ ประมาณร้อยละ 66 ของจำนวนข้อพิพาทที่ยื่นทั้งหมด ซึ่งสํานักงานอนุญาโตตุลาการตั้งเป้าหมายที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้บริษัทสมาชิกยื่นข้อพิพาทผ่านระบบ e-Arbitration ของสำนักงานฯ ให้ได้ถึงร้อยละ 70 ของจำนวนข้อพิพาทที่ยื่นทั้งหมดในปี 2564 และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีต่อ ๆ ไป