นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประจำเดือน มิถุนายน 2558 เรื่อง การพิจารณาค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อกรณีภาวะอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า “ตามที่ได้เกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้กว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยได้ทำประกันภัยต่อไว้กับบริษัทประกันภัยต่อทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วกว่าร้อยละ 97 ของค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด แต่มีบริษัทประกันภัยต่อจำนวนหนึ่งไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับบริษัทประกันวินาศภัยได้ครบถ้วน ส่งผลให้บริษัทฯ ประสบปัญหาในการเรียกคืนสินไหมทดแทนจากการเอาประกันภัยต่อไม่ได้ และส่วนที่เรียกคืนไม่ได้บริษัทฯ ต้องเผื่อการด้อยค่า หรือต้องตีเป็นหนี้สูญนั้น”
สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมสรรพากร เพื่อกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าเผื่อการด้อยค่าสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อ และได้เห็นชอบหลักการร่างประกาศของสำนักงาน คปภ. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จากเหตุอุทกภัยในระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 54 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 54 โดยสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อ ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมที่บริษัทมีสิทธิได้รับคืนจากบริษัทประกันภัยต่อตามสัญญาประกันภัยต่อ และบริษัทต้องมีนโยบายและมาตรการในการติดตามค่าสินไหมฯ เป็นลายลักษณ์อักษรและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทโดยมีเหตุและความจำเป็นในการด้อยค่าสินทรัพย์ฯ รวมถึงต้องจัดทำรายงานการพิจารณาด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ตามแบบที่แนบท้ายประกาศฯ กำหนด และนำส่งพร้อมงบการเงินแก่สำนักงาน คปภ. เป็นต้น
2. การด้อยค่าสินทรัพย์ ต้องเป็นหนี้ลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประกาศ สำนักงาน คปภ. เช่น บริษัทประกันภัยต่อเลิกกิจการและไม่สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ ได้ หรือบริษัทได้มีการทำสัญญาประนีประนอม ค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมกับบริษัทประกันภัยต่อเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบริษัทใช้สิทธิทางศาลหรือกระทำการอย่างใดซึ่งถือได้ว่ามีการมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาในประเทศไทย ประเทศมาเลเซียหรือประเทศสิงคโปร์ เช่น มูลหนี้ค่าสินไหมฯ ที่มีจำนวนไม่แน่นอน ให้สามารถด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ได้เมื่อศาลรับคำฟ้อง หรือรับคำขอรับชำระหนี้หรือมอบข้อพิพาท เป็นต้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ณ เดือนมีนาคม 2558 ประมาณหนี้สูญจากการประกันภัยต่อของบริษัทประกันวินาศภัย มีจำนวน 3,202 ล้านบาท มีผลกระทบด้านภาษีอากร จำนวน 640 ล้านบาท และบริษัทได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว 398,769 ล้านบาท ในจำนวนนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้หรือด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ไปแล้วเป็นจำนวน 1,211 ล้านบาท (ร้อยละ 37.82 ของประมาณการหนี้สูญฯ) ทั้งนี้ เมื่อได้ออกประกาศ สำนักงาน คปภ. แล้ว กรมสรรพากรจะได้นำเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการด้อยค่าสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อ ให้สามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ ปี 2555 เพื่อให้ครอบคลุมบริษัทฯ ที่ได้ดำเนินการด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ไปแล้ว ก่อนที่ประกาศสำนักงานฯ มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ไม่รวมถึงการด้อยค่าสินทรัพย์ฯ กรณีมูลหนี้มีจำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาท
หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 30 มิถุนายน 2558
คปภ. แนะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุ “หว่ามก๋อ” ประกันภัยคุ้มครอง
18 September 2015 Generalคปภ. เตือนประชาชนระวังถูกมิจฉาชีพ หลอกขายประกันภัยรถยนต์
15 September 2015 General