วินาศภัยบรรเทาได้ ด้วยการประกันภัย

News & Events

  • Home
  • News & Events

คปภ. หนุนบริษัทประกันวินาศภัย กรณีประสบภาวะอุทกภัย ปี 54

02 July 2015 General

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยผลการประชุมคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ประจำเดือน มิถุนายน 2558 เรื่อง การพิจารณาค่าเผื่อการด้อยค่าของสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อกรณีภาวะอุทกภัย ปี พ.ศ. 2554 

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า “ตามที่ได้เกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายให้แก่ทรัพย์สินที่ได้เอาประกันภัยไว้กว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งบริษัทประกันวินาศภัยได้ทำประกันภัยต่อไว้กับบริษัทประกันภัยต่อทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้วกว่าร้อยละ 97 ของค่าสินไหมทดแทนทั้งหมด แต่มีบริษัทประกันภัยต่อจำนวนหนึ่งไม่สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับบริษัทประกันวินาศภัยได้ครบถ้วน ส่งผลให้บริษัทฯ ประสบปัญหาในการเรียกคืนสินไหมทดแทนจากการเอาประกันภัยต่อไม่ได้ และส่วนที่เรียกคืนไม่ได้บริษัทฯ ต้องเผื่อการด้อยค่า หรือต้องตีเป็นหนี้สูญนั้น” 

สำนักงาน คปภ. จึงได้หารือร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และกรมสรรพากร เพื่อกำหนดกรอบหลักเกณฑ์ในการพิจารณาค่าเผื่อการด้อยค่าสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อ และได้เห็นชอบหลักการร่างประกาศของสำนักงาน คปภ. โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมที่เกิดขึ้น จากเหตุอุทกภัยในระหว่างวันที่ 1 ก.ค. 54 ถึงวันที่ 31 ธ.ค. 54  โดยสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อ ต้องเป็นค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมที่บริษัทมีสิทธิได้รับคืนจากบริษัทประกันภัยต่อตามสัญญาประกันภัยต่อ และบริษัทต้องมีนโยบายและมาตรการในการติดตามค่าสินไหมฯ เป็นลายลักษณ์อักษรและได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทโดยมีเหตุและความจำเป็นในการด้อยค่าสินทรัพย์ฯ รวมถึงต้องจัดทำรายงานการพิจารณาด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ตามแบบที่แนบท้ายประกาศฯ กำหนด และนำส่งพร้อมงบการเงินแก่สำนักงาน คปภ. เป็นต้น

2. การด้อยค่าสินทรัพย์ ต้องเป็นหนี้ลักษณะใดลักษณะหนึ่งในประกาศ สำนักงาน คปภ. เช่น บริษัทประกันภัยต่อเลิกกิจการและไม่สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนฯ ได้ หรือบริษัทได้มีการทำสัญญาประนีประนอม ค่าสินไหมทดแทนน้ำท่วมกับบริษัทประกันภัยต่อเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบริษัทใช้สิทธิทางศาลหรือกระทำการอย่างใดซึ่งถือได้ว่ามีการมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการพิจารณาในประเทศไทย ประเทศมาเลเซียหรือประเทศสิงคโปร์ เช่น มูลหนี้ค่าสินไหมฯ ที่มีจำนวนไม่แน่นอน ให้สามารถด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ได้เมื่อศาลรับคำฟ้อง หรือรับคำขอรับชำระหนี้หรือมอบข้อพิพาท เป็นต้น

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ณ เดือนมีนาคม 2558 ประมาณหนี้สูญจากการประกันภัยต่อของบริษัทประกันวินาศภัย มีจำนวน 3,202 ล้านบาท มีผลกระทบด้านภาษีอากร จำนวน 640 ล้านบาท และบริษัทได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว 398,769 ล้านบาท ในจำนวนนี้บริษัทฯ ได้ดำเนินการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้หรือด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ไปแล้วเป็นจำนวน 1,211 ล้านบาท (ร้อยละ 37.82 ของประมาณการหนี้สูญฯ) ทั้งนี้ เมื่อได้ออกประกาศ สำนักงาน คปภ. แล้ว กรมสรรพากรจะได้นำเสนอการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534) เพื่อให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักงาน คปภ. ว่าด้วยการด้อยค่าสินทรัพย์จากการประกันภัยต่อ ให้สามารถถือเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีได้ โดยจะให้มีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ ปี 2555 เพื่อให้ครอบคลุมบริษัทฯ ที่ได้ดำเนินการด้อยค่าสินทรัพย์ฯ ไปแล้ว ก่อนที่ประกาศสำนักงานฯ มีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตาม ไม่รวมถึงการด้อยค่าสินทรัพย์ฯ กรณีมูลหนี้มีจำนวนไม่เกิน 10 ล้านบาท

หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186

www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 30 มิถุนายน 2558