คปภ.ผนึกสมาคมประกันวินาศภัย และทีดีอาร์ไอ เดินหน้าปรับปรุงประกันภัยรถภาคบังคับ คาดได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกปีนี้
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยผลการประชุมระหว่าง สำนักงานคปภ.สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เพื่อร่วมกันพิจารณาปรับปรุงการประกันภัยรถภาคบังคับ หรือการประกันภัยรถตาม พ.ร.บ. ในเชิงบูรณาการตามผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอโดยมุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถทุกคน
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน และกำหนดกรอบการพิจารณาไว้ 5 ประเด็น คือ
1.การปรับวงเงินการคุ้มครองให้มีความเหมาะสมเพียงพอต่อการดูแลผู้ประสบภัยจากรถ
2.การปรับเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับความจริง
3.การปรับปรุงรูปแบบกรมธรรม์ประกันภัยให้รวมการประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจอยู่ในฉบับเดียวกัน
4.การปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกองทุนทดแทนผู้ประสบภัย
5.การขยายขอบเขตการประกันภัยรถภาคบังคับ ให้ครอบคลุมความเสียหายในส่วนอื่นมากขึ้นเช่น คุ้มครองทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหาย เป็นต้น
เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า ข้อเสนอจากงานวิจัยของทีดีอาร์ไอบางประเด็นสามารถดำเนินการได้ตามอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. บางประเด็นเป็นอำนาจของคณะกรรมการ คปภ. และมีอีกหลายประเด็นต้องมีการแก้ไขกฎหมาย จึงได้มอบนโยบายให้คณะทำงานเร่งจัดทำรายละเอียดกรอบระยะเวลา และแผนการดำเนินงานอย่างชัดเจน ให้ได้ข้อสรุปภายในไตรมาสแรกของปีนี้ เช่น ในเรื่องการเพิ่มวงเงินการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถให้มีความเหมาะสมนั้น อาจต้องมีการกำหนดแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาวว่าจะมีการปรับวงเงินการคุ้มครองเท่าไหร่ อย่างไร เนื่องจากการเพิ่มวงเงินการชดเชยอาจมีผลกระทบต่อเบี้ยประกันภัยด้วย
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ได้มีการดำเนินการปรับจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นสำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของผู้ประสบภัยจากรถ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จากเดิมที่กำหนดไว้จำนวนเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อคน ปรับเพิ่มเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อคน และได้มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 25 ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา
นายสุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาเยียวยาก็ปรับสูงขึ้น ดังนั้น การรักษาเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถควรมีการพัฒนาปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในด้านการบริการและการชดเชยค่าใช้จ่าย การเพิ่มวงเงินคุ้มครองชดเชยให้แก่ผู้ประสบภัยที่เสียชีวิต และโดยเฉพาะผู้ประสบภัยที่ต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลมีความจำเป็นเร่งด่วน วงเงินความคุ้มครองควรได้รับการปรับปรุงให้เพียงพอต่อการรักษาพยาบาล อย่างไรก็ตาม การปรับเพิ่มความคุ้มครองอาจมีการปรับวงเงินเพิ่มขึ้นเป็นระยะๆ เพื่อให้สังคมเกิดการปรับตัวและได้รับการยอมรับมากขึ้น เนื่องจากอาจต้องมีการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยควบคู่กันไปด้วย อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยอย่างยิ่งกับการปรับเบี้ยประกันภัยรถจักรยานยนต์ให้สะท้อนภาพความจริงให้มากที่สุด ลดการนำเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไปอุดหนุนผลขาดทุนรถจักรยานยนต์
www.posttoday.com
นสพ.โพสต์ทูเดย์ วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558
ประกันภัย 200 เจ๋ง! 7 เดือนแรกยอดโตเฉลี่ยเดือนละ 15%
01 September 2014 General