บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทยชุดใหม่ พลิกโฉมสมาคมฯ สู่ Modernization of TGIA เดินหน้าแผนยุทธศาสตร์ ประกาศแผน Quick Win ขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทย
11 กรกฎาคม 2566 กิจกรรมส่วนกลางคณะกรรมการบริหารสมาคมประกันวินาศภัยไทย ประจำปี 2566-2568 ภายใต้การบริหารของนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย คนใหม่ “ดร.สมพร สืบถวิลกุล” เผยพร้อมทำหน้าที่ขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงและยั่งยืน ประกาศแผนยุทธศาสตร์สมาคมฯ พร้อมเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการเร่งรัด หรือ Quick Win 5 ข้อเร่งปฏิบัติให้ภารกิจเห็นผลภายในปี 2566 และผลักดันให้สมาคมฯ ก้าวไปสู่การเป็นองค์กรที่ทันสมัย (Modernization of TGIA) เน้นความเป็นมืออาชีพ และสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า หลังจากที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ ประจำปี 2566-2568 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้มีการประชุมร่วมกันเพื่อเลือกตั้งผู้ที่จะดำรงตำแหน่งต่าง ๆ และแต่งตั้งประธานคณะกรรมการประกันภัยและกรรมการที่ปรึกษาในคณะกรรมการประกันภัยต่าง ๆ ของสมาคมฯ รวมทั้งยังได้ร่วมกันพิจารณากรอบและทิศทางสำหรับยุทธศาสตร์สมาคมฯ โดยยังคงมีเป้าหมายในการเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ยึดนโยบายในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐ และภาคเอกชน เน้นความเป็นมืออาชีพ สร้างมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนสมาคมฯ ไปสู่ Modernization of TGIA โดยการส่งเสริมให้สมาคมฯ มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่การเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่มีความทันสมัย (Modern & Smart Organization) มีความเป็นมืออาชีพ มีธรรมาภิบาลและการดำเนินงานที่โปร่งใส สามารถนำเทคโนโลยีและทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมทั้งสามารถปรับตัวในการสร้างคุณค่าตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและได้รับความไว้วางใจและยอมรับจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
สำหรับแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯ ปี 2566-2568 คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้มุ่งเน้นไปที่พันธกิจหลัก 4 ด้าน พร้อมทั้งได้มีการกำหนดกรอบและทิศทางการดำเนินงานในแต่ละด้านเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง ดังนี้
พันธกิจที่ 1: ส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากลมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีกรอบและทิศทางการดำเนินการ ประกอบด้วย การสร้างความตระหนักรู้ให้เห็นความจำเป็นของการประกันภัย และการขับเคลื่อน ESG ในธุรกิจประกันวินาศภัยไทย
พันธกิจที่ 2: ยกระดับความเชื่อมั่นและความไว้วางใจในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐและเอกชน โดยมีกรอบและทิศทางการดำเนินการ ประกอบด้วย การสนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชน สนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจและการมุ่งสู่การเปิดเสรีในบางมิติ และการผลักดันให้ภาครัฐมีมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการทำประกันวินาศภัยในทุกระดับและทุกมิติเพื่อช่วยในการบริหารความเสี่ยงและแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
พันธกิจที่ 3: พัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจประกันภัยให้เป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล โดยมีกรอบและทิศทางการดำเนินการ ประกอบด้วย การพัฒนาศักยภาพบุคลากรในธุรกิจประกันภัยให้เป็นมืออาชีพที่ยึดมั่นในหลักธรรมาภิบาล ส่งเสริมให้บุคลากรให้เข้าสู่ระบบธุรกิจประกันวินาศภัย และพัฒนาบุคลากรเพื่อมุ่งสู่ความเป็นเลิศ และการเป็นองค์กรที่ทันสมัย Modernization of TGIA เปลี่ยนให้สมาคมฯ เป็น “Modern & Smart Organization” โดยการพัฒนาบุคลากรของสมาคมฯ ให้มีกระบวนการทำงานเชิงรุกตอบโจทย์การทำงานได้ในทุกรูปแบบเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พันธกิจที่ 4: เสริมสร้างระบบนิเวศประกันภัยที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ โดยมีกรอบและทิศทางการดำเนินการ ประกอบด้วย การเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีกับหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานอื่น ๆ การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย กฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย (Regulatory Guillotine) สนับสนุนให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลและการใช้ข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมและประชาชน สนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจและการมุ่งสู่การเปิดเสรีในบางมิติ เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อเป็นแนวทางของธุรกิจประกันวินาศภัย ส่งเสริมการสร้าง Digital Insurance Ecosystem รวมถึงกระชับความร่วมมือระหว่างบริษัทสมาชิก และสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยขยายธุรกิจ บริการ และการลงทุนไปยังต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 นี้ คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้ร่วมกันกำหนดแผนปฏิบัติการเร่งรัด หรือ Quick Win ในการขับเคลื่อนตามกรอบและทิศทางของแผนยุทธศาสตร์สมาคมฯ ให้เห็นผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ ได้แก่
1. การควบรวมสำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (Insurance Premium Rating Bureau: IPRB) และ บริษัท ไทยอินชัวเรอส์ดาต้าเนท จำกัด (Thai Insurers Datanet Co., Ltd.: TID) เข้าด้วยกัน โดยการรวม 2 หน่วยงานดังกล่าวให้เป็นหน่วยงานเดียวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะมีการขับเคลื่อนให้หน่วยงานใหม่ที่จัดตั้งขึ้นนี้ได้นำฐานข้อมูลกลางประกันภัย (Insurance Bureau System: IBS) มาใช้ประโยชน์ในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ภาพรวมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจประกันวินาศภัยให้มากยิ่งขึ้น เช่น การวิเคราะห์ต้นทุนความเสียหายของการประกันภัยประเภทต่าง ๆ การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตรวจสอบการฉ้อฉลประกันภัย เป็นต้น
2. การสนับสนุนแนวคิดและผลักดันให้เกิดการกำกับดูแลกันเองของภาคธุรกิจประกันวินาศภัย และการเปิดเสรีธุรกิจประกันวินาศภัยในบางมิติ เช่น การเปิดเสรีด้านค่าคอมมิชชันของตัวแทน/นายหน้าประกันวินาศภัย และอัตราเบี้ยประกันภัย โดยในเรื่องนี้สมาคมฯ จะขอความสนับสนุนและความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในการให้บริษัทประกันภัยแต่ละบริษัทสามารถกำหนดค่าคอมมิชชันเองได้แต่ต้องเปิดเผยรายละเอียดของการจ่ายค่าคอมมิชชันนี้ออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน และต้องอธิบายให้สำนักงาน คปภ. ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเห็นด้วยว่าบริษัทสามารถประกอบธุรกิจอยู่รอดได้ภายใต้การจ่ายค่าคอมมิชชันดังกล่าว นอกจากนี้ ในส่วนของการออกกรมธรรม์ใหม่ ๆ สมาคมฯ ก็จะขอความสนับสนุนและความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ให้บริษัทประกันภัยสามารถออกกรมธรรม์ได้โดยไม่ต้องใช้ระยะเวลานานเกินไป ภายใต้เกณฑ์ที่สำนักงาน คปภ. กำหนดรายละเอียดไว้ในการออกผลิตภัณฑ์ประกันภัยต่าง ๆ ด้วย
3. การสนับสนุนและร่วมมือในการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัย (Regulatory Guillotine) กับสำนักงาน คปภ. โดยในเรื่องนี้คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบไปศึกษาและดำเนินการว่า มีกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัยใดบ้างที่น่าจะนำมาทบทวน ปรับปรุงแก้ไข หรือยกเลิก ตามความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในปัจจุบันนั้นแตกต่างจากบริบทที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีซึ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคและก่อให้เกิดโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ กฎหมายที่มีอยู่จึงอาจล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์การประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัล
4. การควบคุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของการประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น และศึกษามาตรการเพิ่มเติมในการลดหย่อนภาษี รวมถึงหาแนวทางในการจัดตั้งคณะแพทย์ที่ปรึกษาให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทย โดยในเรื่องนี้คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ได้มอบหมายให้คณะกรรมการประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพไปดำเนินการศึกษาหามาตรการควบคุมค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลของการประกันภัยสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันตามแนวโน้มในการรักษาทางการแพทย์ และปัจจัยประกอบอื่น ๆ ทั้งในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ และอุบัติภัยทางสุขภาพ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ค่าเบี้ยประกันภัยสุขภาพสูงเกินไปจนผู้เอาประกันภัยต้องแบกรับภาระเพิ่ม รวมถึงมาตรการในการส่งเสริมการเพิ่มสิทธิพิเศษในการลดหย่อนภาษีจากการทำประกันภัยสุขภาพในส่วนอื่น ๆ นอกเหนือจากที่กรมสรรพากรประกาศไว้ ซึ่งในเรื่องนี้จะได้มีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมและปรึกษาหารือรวมทั้งขอความเห็นชอบจากกรมสรรพากรต่อไป
5. การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยในเชิงรุก โดยในเรื่องนี้สมาคมฯ จะเข้ามามีบทบาทในการจัดการข้อร้องเรียนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจประกันวินาศภัยของประชาชนมากขึ้น รวมทั้งจะมีการสื่อสารประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดการรับรู้และตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชน รวมทั้งจัดการกับภาวะวิกฤติ (Crisis Management) ให้ทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันวินาศภัย
ทั้งนี้ การขับเคลื่อนตามแผนยุทธศาสตร์ของสมาคมฯ นั้นมีคณะกรรมการประกันภัยสาขาต่าง ๆ รวม 8 สาขา ที่ร่วมในการกำหนดแผนงานและพร้อมปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ภายในระยะเวลา 2 ปี ซึ่งสมาคมฯ มีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็น win-win situation ซึ่งได้ประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งประชาชน สังคม หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทสมาชิก และเชื่อมั่นว่าแนวทางการบริหารงานภายใต้กรอบและทิศทางในข้างต้นจะนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจประกันวินาศภัยให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคงอย่างแน่นอน นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวปิดท้าย
ทำบุญครบรอบ 51 ปี สมาคมประกันวินาศภัยไทย
16 พฤศจิกายน 2561 กิจกรรมส่วนกลางCEO Focus Group: Demystifying IFRS 17 for General Insurers
14 พฤศจิกายน 2561 กิจกรรมส่วนกลาง