คณะกรรมการกฎหมายและกฎระเบียบ

ข่าวสารและกิจกรรม

สมาคมประกันวินาศภัยไทยแถลงข่าวสถานการณ์วิกฤตจากการรับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ

สมาคมประกันวินาศภัยไทยแถลงข่าวสถานการณ์วิกฤตจากการรับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ

18 พฤศจิกายน 2564 กิจกรรมส่วนกลาง
วันนี้เวลา 14.00 น. นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้แถลงข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤตจากการรับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ พร้อมชี้แจงเหตุผลในการรับประกันภัย COVID-19 ว่าภาคธุรกิจประกันวินาศภัยต้องการช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับประชาชนคนไทย รวมทั้งช่วยแบ่งเบาและลดภาระในการดูแลผู้ป่วย COVID-19 ของรัฐบาล และที่สำคัญคือเป็นการทำตามนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่ส่งเสริมและกระตุ้นให้บริษัทประกันภัยพัฒนากรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เพื่อออกขายให้ครอบคลุมและกว้างขวางที่สุด อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก COVID-19 เป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยากต่อการคาดการณ์ จึงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อบริษัทประกันภัยที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ ตามที่ปรากฏเป็นข่าวในขณะนี้
 
หลักการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงอุบัติใหม่
 
นายอานนท์ได้เริ่มต้นการแถลงข่าวโดยอธิบายหลักการประกันภัยว่า การประกันภัยนั้นถือเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงของประชาชน ภาคธุรกิจ รวมถึงภาครัฐ การประกันภัยต่างจากการเสี่ยงโชคในมุมที่ว่า ผู้เอาประกันภัยจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเมื่อเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันภัยก่อให้เกิดความเสียหายขึ้น การซื้อประกันภัยจึงไม่เหมือนสินค้าหรือบริการอื่นที่เมื่อซื้อแล้วต้องใช้ให้คุ้ม เพราะหากมีค่าสินไหมทดแทนเกิดขึ้นสูงแล้ว เบี้ยประกันภัยก็จะต้องถูกปรับให้สูงขึ้นในอนาคต เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยให้เหมาะสมยิ่งขึ้น 
 
สำหรับ COVID-19 ถือเป็นความเสี่ยงที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือที่เรียกว่าความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งโดยหลักแล้ว การกำหนดอัตราเบี้ยประกันภัยจะไม่มีสถิติมารองรับอย่างเพียงพอ ดังนั้น ในระยะเริ่มต้นจึงต้องอาศัยการคาดการณ์จากข้อมูลเท่าที่มีอยู่ จากนั้น เมื่อมีการติดตามผลการรับประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ก็สามารถนำข้อมูลที่มีมากขึ้นมาใช้ปรับอัตราเบี้ยประกันภัยและเงื่อนไขความคุ้มครองให้มีความเหมาะสมกับความเสี่ยงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หาก Emerging Risk ใด ก่อให้เกิดความเสียหายสูงกว่าความคาดหมายมากเกินระดับที่กำหนดไว้ ก็อาจต้องมีการพิจารณายุติความเสี่ยงเพื่อควบคุมความเสียหายไม่ให้ส่งผลกระทบออกไปในวงกว้าง ซึ่งในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ก็ได้มีการกำหนดหลักการสำหรับการรับประกันภัยว่าไม่ควรรับประกันภัยรายเดียวหรือหลายรายรวมกันเพื่อวินาศภัยเดียวกัน เกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินกองทุน เพื่อป้องกันไม่ให้วินาศภัยใดก่อให้เกิดความเสียหายจนอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินได้ในที่สุด
สถานการณ์จากการรับประกันภัย COVID-19
 
นายอานนท์ ได้เปิดเผยต่อไปว่า สถิติ ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 แสดงให้เห็นว่า ค่าสินไหมทดแทนรวมจากการรับประกันภัย COVID-19 มีจำนวนกว่า 37,000 ล้านบาท ในขณะที่เงินกองทุนของบริษัทประกันวินาศภัยที่รับประกันภัยโดยรวมนั้นอยู่ที่ประมาณ 132,000 ล้านบาท และด้วยสถานการณ์การระบาดที่ยังคงยืดเยื้อจนถึงปัจจุบันรวมถึงความเป็นไปได้ในการเกิดการระบาดระลอกใหม่ ทำให้คาดการณ์ว่าค่าสินไหมทดแทนสะสม ณ สิ้นปี 2564 จะเพิ่มสูงถึง 40,000 ล้านบาท คิดเป็น 30% ของเงินกองทุนทั้งหมด (ซึ่งอัตรานี้เป็นค่าเฉลี่ยของทุกบริษัท ฉะนั้น อาจมีบางบริษัทที่มีความเสียหายสูงกว่าเงินกองทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก) และอาจเพิ่มสูงถึง 60%-70% ของเงินกองทุนหากเกิดการระบาดระลอกใหม่ดังเช่นที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลกในเวลานี้ ซึ่งจะทำให้บริษัทประกันวินาศภัยหลายบริษัทอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
 
ประกันภัย COVID-19 อาจเป็นอุปสรรคต่อความสำเร็จของแผนการเปิดประเทศ
 
แผนการเปิดประเทศในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและฟื้นฟูเศรษฐกิจ นอกจากนี้แล้ว ยังมีเป้าหมายให้ประชาชนเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตวิถีใหม่และดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับโรค COVID-19 เนื่องจากมีผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกแล้วเกินกว่า 63% ของประชากร ในขณะที่ผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 มีมากกว่า 52% ของประชากร ซึ่งการได้รับวัคซีนแล้วจะส่งผลทำให้ประชาชนกลับไปใช้ชีวิตตามปรกติเพิ่มมากขึ้น เพราะโอกาสในการเจ็บป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตนั้นจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็จะส่งผลทำให้โอกาสในการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย 
 
ทั้งนี้ จากสถิติผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศไทยมีอัตราผู้ติดเชื้อ 2.8% ของประชากร แต่อัตราผู้ติดเชื้อของผู้ที่มีประกันภัย COVID-19 สูงถึง 3.8% ของผู้ถือกรมธรรม์ ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั่วไปถึง 35.7% นอกจากนี้แล้ว ข้อมูลจากบริษัทซึ่งอยู่ใน TOP 5 ของบริษัทที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบมีอัตราการติดเชื้อสูงถึง 4.2% ซึ่งสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของประชากรไทยทั้งหมดถึง 46% 
 
ดังนั้น หากการติดเชื้อดังกล่าวของผู้ที่มีประกันภัย COVID-19 แพร่ไปยังประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน อาจก่อให้เกิดการระบาดและคลัสเตอร์ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสำเร็จของแผนการเปิดประเทศได้
 
สิทธิการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัย
 
ตามหลักการประกันภัยสากลรวมถึงประเทศไทย ผู้เอาประกันภัยและบริษัทประกันภัยต่างก็มีสิทธิในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย อย่างไรก็ตาม การบอกเลิกโดยผู้เอาประกันภัยนั้น ไม่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้า ในขณะที่การบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัยนั้น จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ผู้เอาประกันภัยทราบอย่างน้อย 15-30 วัน ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ.
 
สำหรับสาเหตุในการบอกเลิกโดยผู้เอาประกันภัยนั้น โดยทั่วไปมาจากการที่ผู้เอาประกันภัยไม่พึงพอใจในบริการ หรือได้รับข้อเสนอที่ดีกว่าจากบริษัทประกันภัยอื่น หรือเมื่อผู้เอาประกันภัยได้ขายทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไป ในขณะที่การบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัยแบบเฉพาะรายนั้น ส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากการกระทำฉ้อฉลของผู้เอาประกันภัย หรือกรณีที่ผู้เอาประกันภัยมีอัตราการเคลมสูงกว่าอัตราปรกติเป็นอย่างมาก หรือกรณีที่ผู้เอาประกันภัยให้ข้อมูลหรือเอกสารที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง สำหรับการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยจำนวนมากในคราวเดียวกันจะมีสาเหตุมาจากภาพรวมและปัจจัยความเสี่ยง (Risk Profile) ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมักจะเกิดกับเหตุการณ์ที่เป็นมหันตภัยหรือความเสี่ยงอุบัติใหม่ (Emerging Risk)
 
“จะเห็นได้ว่า มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยความเสี่ยงผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตจาก COVID-19 อย่างมีนัยสำคัญ โดยจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในปี 2563 มีจำนวน 6,884 คน ในขณะที่ในปี 2564 นับจนถึงวันนี้มีผู้ติดเชื้อถึง 2,037,241 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 296 เท่าหรือ 29,600% สำหรับจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2563 นั้นมีจำนวน 61 คน ในขณะที่ผู้เสียชีวิตในปีนี้มีถึง 20,193 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2563 ถึง 331 เท่าหรือ 33,100%”
 
นายอานนท์ ได้ให้ข้อมูลต่อว่า เงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยนั้น เป็นเงื่อนไขมาตรฐานที่กำหนดอยู่ในกรมธรรม์ทุกประเภททั่วโลกและในประเทศไทยรวมถึงกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ด้วย ซึ่งเงื่อนไขการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ทุกฉบับ
 
คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย
 
ในพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ได้ให้อำนาจนายทะเบียนในการสั่งแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบหรือข้อความที่ได้เคยอนุมัติไปแล้วได้ และในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 นายทะเบียนได้ใช้อำนาจในการสั่งยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกโดยบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ ในคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ได้ระบุ “ให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยบริษัท สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนและกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่บริษัทได้ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยก่อนวันที่มีคำสั่งนี้และยังคงมีผลใช้บังคับ”
 
ในความเห็นของสำนักงาน คปภ. นั้น คำสั่งนี้มีผลบังคับตามกฎหมาย โดยให้มีผลบังคับย้อนหลังไปถึงกรมธรรม์ที่ได้ออกไปแล้วก่อนหน้าวันที่มีคำสั่งประกาศใช้ ในขณะที่ความเห็นจากกลุ่มบริษัทที่รับประกันภัย COVID-19 นั้น มีความเห็นแตกต่าง ดังนี้
 
1) คำสั่งนี้มีผลบังคับใช้เฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยที่ออกใหม่หลังวันที่ออกคำสั่ง เช่นที่เคยปฏิบัติมา
2) ตามหลักกฎหมายทั่วไป (รัฐธรรมนูญ หลักกฎหมายปกครอง และหลักกฎหมายอาญา) กฎหมายย่อมไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง ยกเว้นกฎหมายที่เป็นคุณกับผู้ถูกบังคับ
3) เงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยมีความสัมพันธ์กับนโยบายการรับประกันภัยและอัตราเบี้ยประกันภัย เมื่อมีคำสั่งแก้ไขเฉพาะเงื่อนไข ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้รับประกันภัย เพราะเมื่อมีการปรับเงื่อนไข จะทำให้ความเสี่ยงเปลี่ยนไป ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิเลือกว่าจะรับประกันภัยต่อไปหรือไม่ และด้วยอัตราเบี้ยประกันภัยเท่าใด
4) มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้รับประกันภัยต่อ เพราะเงื่อนไขที่นายทะเบียนสั่งแก้ไขอาจไม่ตรงกับสัญญาประกันภัยต่อ และจะทำให้เกิดปัญหาเมื่อมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้รับประกันภัยต่อ
 
“เงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกเปรียบเสมือนเป็นระบบเซฟทีคัทในบ้านทุกหลัง หรือระบบเบรกในรถยนต์ทุกคัน เพื่อจะใช้ตัดไฟหรือหยุดรถในยามฉุกเฉินหรือเมื่อเกิดเหตุวิกฤต ผมขอเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ลองนึกถึงรถที่บรรทุกผู้โดยสารอยู่เต็มคันรถวิ่งจากกรุงเทพไปเชียงราย แต่ระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหายและไม่มีความพร้อมที่จะเดินทางต่อไปได้ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดรถเพื่อซ่อมแซมให้เกิดความปลอดภัย แต่มีคนมาสั่งการให้เอาระบบเบรกออกและสั่งให้รถวิ่งต่อไป ซึ่งทางข้างหน้าเป็นทางที่อันตราย และรถก็ไม่มีระบบเบรกแล้ว เช่นนี้ก็จะก่อให้เกิดความเสี่ยงและอันตรายถึงชีวิตทั้งกับคนขับ ผู้โดยสาร และผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่นได้”
 
หลักการสำคัญที่ผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยทั่วโลกใช้สำหรับการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบประกันภัยและความเสี่ยงเชิงระบบ
 
นายอานนท์ ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการสำคัญที่ผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยทั่วโลกใช้ในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยที่เรียกว่า Insurance Core Principles (ICPs) ซึ่งมีหลักการข้อที่ 24 หรือ ICP 24 ว่าด้วยหลักการ Macroprudential Supervision ซึ่งเป็นหลักการข้อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการกำกับดูแลเสถียรภาพระบบประกันภัยและความเสี่ยงเชิงระบบซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้
 
“ใน ICP 24 ได้ระบุชัดเจนว่าสำนักงาน คปภ. มีหน้าที่ในการระบุ ติดตาม และวิเคราะห์ปัจจัยแวดล้อมซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันภัยและภาคธุรกิจประกันภัย และใช้ข้อมูลที่ได้รับในการระบุจุดเปราะบาง รวมถึงกำหนดมาตรการในจัดการความเสี่ยงเชิงระบบที่กำลังเกิดขึ้นและผลกระทบที่จะแพร่กระจายออกไป ทั้งในระดับบริษัทและในระดับธุรกิจหากมีความจำเป็น โดยผลกระทบเชิงระบบอาจเกิดขึ้นมาจากการที่บริษัทบางบริษัทหรือทั้งภาคธุรกิจต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง รวมถึงความเสี่ยงในรูปแบบอื่น ๆ ซึ่งความเสี่ยงเหล่านี้จะส่งผลกระทบไปยังส่วนอื่นของระบบการเงินหากบริษัทประกันภัยมีการเลิกกิจการ”
 
นายอานนท์ได้อธิบายต่อว่า ใน ICP 24 นี้ ยังได้มีการเขียนไว้ชัดเจนเกี่ยวกับเจตนาในการออกกฎหมายเพื่อลดผลกระทบที่จะแพร่กระจายออกไป อันเนื่องมาจากปัญหาเงินกองทุนและสภาพคล่องของบริษัทประกันภัย หรือจาก Exposures ที่มีร่วมกันของกลุ่มของบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. อาจออกกฎหมายซึ่งปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในแต่ละช่วงเวลา ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป และในการออกกฎหมายให้เหมาะสมกับสถานการณ์นั้น อาจจะอยู่ในรูปของ Rule-based ซึ่งจะมีผลบังคับใช้โดยอัตโนมัติหากเกิดเหตุการณ์ที่เข้าเงื่อนไขที่ได้มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว หรือในรูปของการใช้ดุลยพินิจหากมีเหตุผลประกอบการตัดสินใจที่ชัดแจ้ง การออกกฎหมายในรูปของ Rule-based จะมีความโปร่งใสมากกว่า แต่ก็จำเป็นต้องอาศัยการประเมินอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของเงินกองทุนภายใต้สภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจประกันภัย
 
เกณฑ์ในการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ และมาตรการในการเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ถูกบอกเลิก
 
เนื่องจากเงินที่บริษัทประกันภัยใช้ในการประกอบธุรกิจส่วนใหญ่นั้น มาจากเบี้ยประกันภัยจากการรับประกันภัยทุกประเภทซึ่งให้ความคุ้มครองผู้เอาประกันภัยทุกประเภทกว่า 70 ล้านกรมธรรม์ หากการจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัย COVID-19 ส่งผลทำให้บริษัทประกันภัยต้องมีการปิดกิจการเพิ่มอีก ก็จะส่งผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยในวงกว้าง และกองทุนประกันวินาศภัยคงไม่สามารถรับภาระในการชดเชยค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดได้
 
“เนื่องจากธุรกิจประกันวินาศภัยกำลังเผชิญกับความเสี่ยงเชิงระบบซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัยในอนาคตอันใกล้ สมาคมฯ จึงได้มีการหารือกับสำนักงาน คปภ. เพื่อหาทางออกร่วมกันตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันไม่ให้เกิด Outward Risks ซึ่งเป็นความเสี่ยงจากภาคธุรกิจประกันภัยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อระบบการเงินหรือระบบเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด ตามหลักการของ ICP 24 – Macroprudential Supervision โดยพยายามหาข้อสรุปร่วมกันเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยส่วนใหญ่และเสถียรภาพของระบบประกันภัยเป็นที่ตั้ง ซึ่งหลังจากพิจารณาแนวทางทั้งหมดที่เป็นไปได้แล้ว ได้มีการกำหนดเกณฑ์ร่วมกันหากจำเป็นต้องมีการบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 แบบเจอจ่ายจบ ดังนี้
 
1) มีอัตราความเสียหายจากการรับประกันภัย COVID-19 ตั้งแต่ 400% ขึ้นไป หรือ 
2) มีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย COVID-19 ตั้งแต่ 4,000 ล้านบาทขึ้นไป หรือ 
3) มีค่าสินไหมทดแทนจากการรับประกันภัย COVID-19 เกินกว่าร้อยละ 10 ของเงินกองทุน
 
สำหรับมาตรการเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้มีการพิจารณาร่วมกัน มีดังต่อไปนี้
 
1) ได้รับเบี้ยประกันภัยคืน 100% จากบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก แทนที่จะได้รับเบี้ยคืนตามส่วนระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่ หรือ
2) เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองเฉพาะกรณีเจ็บป่วยขั้นสุดท้าย (ภาวะโคม่า) ด้วยทุนประกันภัย 5 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิก หรือ
3) เปลี่ยนเป็นกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลฉบับใหม่ ซึ่งจะให้ความคุ้มครองด้วยทุนประกันภัย 10 เท่าของวงเงินความคุ้มครองแบบเจอจ่ายจบในกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ที่ถูกบอกเลิก หรือ
4) นำเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืนตามข้อ 1) มาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยอื่น ๆ ของบริษัทที่ใช้สิทธิบอกเลิก โดยจะได้รับส่วนลดเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2 เท่าของเบี้ยประกันภัยที่ได้รับคืน
 
การบริหารจัดการความเสี่ยงเชิงระบบและเสถียรภาพของระบบประกันวินาศภัย
 
นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้ายว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมีเจตนาดีที่จะนำระบบประกันภัยเข้ามาช่วยในการบริหารความเสี่ยงของประชาชนและภาครัฐอย่างเต็มความสามารถ โดยได้ร่วมกับสำนักงาน คปภ. พัฒนากรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงด้านสุขภาพและการเงินให้กับประชาชน และช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐในเรื่องของการจ่ายค่ารักษาพยาบาลและการชดเชยรายได้ 
 
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดของเงินกองทุนที่มีอยู่ กอปรกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งเป็นความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยังคงลากยาวต่อเนื่อง และค่าสินไหมทดแทนที่เกิดขึ้นในระดับที่จะส่งผลต่อเสถียรภาพของระบบประกันภัยและผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยอื่นอีกกว่า 70 ล้านกรมธรรม์ จึงทำให้สมาคมฯ ต้องแจ้งบริษัทสมาชิกที่รับประกันภัย COVID-19 แบบเจอ จ่าย จบ ให้วิเคราะห์ผลการรับประกันภัยและทบทวนการบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนของบริษัทเนื่องมาจากภาพรวมและปัจจัยความเสี่ยงที่ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยขอให้บริษัทสมาชิกประเมินค่าสินไหมทดแทนที่ได้เกิดขึ้นแล้วและที่คาดว่าจะเกิดในอนาคต โดยเฉพาะกรณีหากมีการระบาดระลอกใหม่ขึ้น ว่าจะส่งผลกระทบต่อเงินกองทุนและฐานะการเงินของบริษัทจนทำให้ไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้หรือไม่ 
 
เนื่องด้วยภาพรวมและปัจจัยความเสี่ยงสำหรับการรับประกันภัย COVID-19 ได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างคาดไม่ถึง ตามข้อมูลที่ได้นำเสนอในวันนี้ หากฐานะการเงินของบริษัทประกันภัยใดไม่สามารถรองรับความเสี่ยงได้อีกในอนาคต และจำเป็นต้องบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทประกันภัยเหล่านั้นไม่ได้มีเจตนาในการเอาเปรียบหรือทอดทิ้งผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด แต่เป็นความจำเป็นและเป็นการบริหารความเสี่ยงที่พึงกระทำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบกับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ที่อาจได้รับผลกระทบหากบริษัทที่รับประกันภัย COVID-19 ต้องปิดกิจการเพิ่มอีกในอนาคต นอกจากนี้แล้ว หากบริษัทประกันภัยต้องปิดกิจการลง ก็จะส่งผลกระทบถึงสิทธิของเจ้าหนี้ประเภทอื่น ๆ ของบริษัทประกันภัยซึ่งไม่มีสิทธิรับเงินจากกองทุนประกันวินาศภัย เช่น โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ตัวแทน นายหน้า พนักงาน และเจ้าหนี้ประเภทอื่น ๆ ของบริษัทประกันภัย บริษัทประกันภัยจึงอาจมีความจำเป็นที่จะต้องตัดสินใจดังกล่าวในอนาคตเพื่อจำกัดความเสียหายไม่ให้เกิดในวงกว้าง และรักษาเสถียรภาพของระบบประกันภัยไว้
 
- ดาวน์โหลด presentation ประกอบการแถลงข่าว คลิกที่นี่
- รับชมวิดีโอการแถลงข่าว คลิกที่นี่