สมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 48 และการประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 25 ณ ประเทศไทย
06 ธันวาคม 2565 กิจกรรมส่วนกลางสมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสำนักงาน คปภ. ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 25 (25th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: AIRM) และการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 48 (48th ASEAN Insurance Council Meeting: AIC) ภายใต้ธีม “Strengthening ASEAN Insurance Ecosystem Towards Digitalization Sustainability” โดยได้มีกำหนดการจัดประชุม AIRM และ AIC ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ
การประชุม AIRM และ AIC ในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานกำกับ รวมถึงผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตในประเทศอาเซียน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 250 คน โดยการประชุมในครั้งนี้มีไฮไลต์ที่น่าสนใจ อาทิ
- พิธีเปิดงาน โดย นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นเครื่องมือในการช่วยบริหารความเสี่ยง สร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับ ดังนั้น การจัดประชุมของหน่วยงานกำกับฯ และภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียนครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมถึงความต้องการของภาคธุรกิจประกันภัยในมิติต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการกำกับดูแล รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน
- การติดตามความก้าวหน้าของคณะทำงานในด้านต่าง ๆ ของ AIC ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ซึ่งประกอบไปด้วย คณะทำงานด้านการประกันภัยรถผ่านแดน (ASEAN Council of Bureaux Meeting: COB) คณะทำงานด้านการประกันภัยต่อ (ASEAN Reinsurance Working Committee: ARWC) คณะทำงานด้านการศึกษา (ASEAN Insurance Education Committee Meeting: AIEC) และคณะทำงานการด้านภัยพิบัติ (ASEAN Natural Disaster Research and Works Sharing: ANDREWS) ซึ่งแต่ละคณะทำงานต่างมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานไปตามลำดับ รวมถึงที่ภาคธุรกิจเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Takaful/Retakaful Working Committee (ATRWC) โดยมี นาย Mohammad Nizam Yahya จาก Malaysian Re Takaful เป็นประธานคณะทำงาน รวมถึงการตอบรับ Asosiasi Asuransi Syariah Indonesia (AASI) เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบอย่างเป็นทางการของ AIC
- การประชุมร่วมของหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัย (Joint Plenary Meeting) เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ
1) หน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยเห็นพ้องต้องกันถึงการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และได้หารือร่วมกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงการลงทุนในสินทรัพย์ ด้าน Environment, Social, Governance (ESG) ทั้งในระดับสากลและอาเซียน โดยหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียนจะร่วมกันเดินหน้าหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป
2) ความท้าทายของการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน เช่น ความแตกต่างของระบบความรับผิดและการชดเชยความเสียหาย การขาดการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition) ในการประกันภัยของประเทศอื่น ซึ่งหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจจะร่วมกันเดินหน้าแก้ไขประเด็นข้อท้าทายเหล่านี้ รวมถึงประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น และผลักดันการพัฒนาระบบ ACMI ให้เป็นดิจิทัล (Digitalization) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน ผ่านช่องทางออนไลน์
3) ผลกระทบเรื่องการฉ้อฉลในการประกันภัย (Fraud in Insurance) และแนวทางการลดปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินงานภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การประชุม AIRM ครั้งที่ 25 และการประชุม AIC ครั้งที่ 48 ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการเป็นเวทีที่หน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจได้มีโอกาสหารือกันในประเด็นต่าง ๆ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ในปัจจุบัน อีกทั้งการจัดงานครั้งนี้ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้รับการตอบรับจากผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียนเป็นอย่างดีด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานที่มากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งยังเป็นการจัดประชุมร่วมกันแบบ Physical Meeting เป็นครั้งแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการงานประชุมครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากความร่วมแรงร่วมใจของทุก ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจและภาคธุรกิจประกันภัยของไทย รวมถึงหน่วยงานในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้การประชุมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
สำหรับการประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 49 ในปีหน้านั้น ประเทศเวียดนามจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยในภาคธุรกิจฯ จะมีนาย Shahrildin Jaya ประธาน Brunei Insurance & Takaful Association (BITA) ทำหน้าที่เป็นประธานสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียนต่อจากนาย Nguyen Xuan Viet ประธานจาก Insurance Association of Vietnam ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ในปีนี้
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุม
ผลการแข่งขันแบดมินตันประกันภัย ครั้งที่ 8
18 กุมภาพันธ์ 2559 กิจกรรมส่วนกลาง