สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดการณ์ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 65 เติบโต 3.5%-4.5% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการธนาคารน้ำใต้ดินทุ่งกุลาร้องไห้ตามแนวคิด ESG เพื่อพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
17 กันยายน 2565 กิจกรรมส่วนกลางสมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมิถุนายน 2565 รวม 6 เดือนที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 132,741 ล้านบาท เติบโต 2.1% โดยคาดการณ์ทั้งปี 2565 เติบโต 3.5%-4.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 272,000-274,600 ล้านบาท และคาดว่าปี 2566 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท หรือเติบโตราว 4.5%-5.5% จากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2565 ว่า ปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังจากถดถอยมาจากปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แม้ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันผลกระทบต่าง ๆ ทั้งจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ช่วงต้นปีถึงกลางปี และความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุน แต่ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยรวม 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม - เดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา (ไตรมาส 2 ปี 2565) ยังคงมีอัตราการเติบโต 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 132,741 ล้านบาท โดยการประกันภัยแต่ละประเภทยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2565 ทั้งปีนั้น สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) สมาคมประกันวินาศภัยไทย ประมาณการว่า จะเติบโตราว 3.5%-4.5% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 272,000-274,600 ล้านบาท โดยการประกันภัยแทบทุกประเภทมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ยอดจำหน่ายรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีที่แล้ว การท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการประกันภัย และคาดการณ์ว่าปี 2566 จะมีอัตราการเติบโตราว 4.5%-5.5% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 282,200-287,900 ล้านบาท อันเป็นผลมาจากการที่ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ
นายกี่เดช อนันต์ศิริประภา ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวถึงรายละเอียดผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ ไตรมาส 2 (มกราคม-มิถุนายน) ของปี 2565 ว่า เป็นส่วนของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์จำนวน 75,453 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.0%) โดยเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมและการคลี่คลายของปัญหาชิ้นส่วนในการผลิตขาดตลาด ส่งผลให้ยอดจำหน่ายรถยนต์ใหม่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์ของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์ทั้งปี 2565 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันอัคคีภัยมีจำนวน 5,325 ล้านบาท (ลดลง 3.4%) โดยลดลงตามมูลค่าการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ลดลงในครึ่งปีแรก ส่วนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยทางทะเลและขนส่งมีจำนวน 3,553 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 12.4%) โดยเพิ่มขึ้นจากการที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการที่มากขึ้นของผู้บริโภคซึ่งส่งผลดีต่อการประกันภัยขนส่ง มูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น และเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีจำนวน 48,411 ล้านบาท (ลดลง 0.8%) โดยลดลงจากการที่เบี้ยประกันภัย COVID-19 กว่า 6,000 ล้านบาทหายไปจากตลาด อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการประกันภัยการเดินทาง ซึ่งอยู่ในกลุ่มของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดนั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเพิ่มสูงขึ้นมากเป็น 1,243 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 238.6%) สืบเนื่องมาจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ ตลอดจนการเปิดประเทศและการคลายกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเดินทางระหว่างประเทศได้มากขึ้น
สำหรับอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของการประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ ไตรมาส 2 (มกราคม - มิถุนายน) ของปี 2565 นั้น พบว่า อัตราความเสียหายโดยรวมของการประกันภัยทุกประเภทนั้นเท่ากับ 121.0% โดยอัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์เท่ากับ 55.3% อัตราความเสียหายของการประกันอัคคีภัยเท่ากับ 21.9% อัตราความเสียหายของการประกันภัยทางทะเลเท่ากับ 36.6% และอัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดเท่ากับ 300.9% โดยสาเหตุที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดสูงขึ้นมากนั้นเป็นเพราะรวมความเสียหายของการประกันภัย COVID-19 ในช่วงไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ที่มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสูงมาก
ในส่วนของโครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2564 ที่กำลังจะสรุปปิดโครงการนั้น มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 3,823.7 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.5% ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งหมดของการประกันภัยทุกประเภท โดยเป็นเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี 3,568.4 ล้านบาท และเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 255.3 ล้านบาท ส่วนอัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวนาปีนั้นเท่ากับ 47.8% ในขณะที่อัตราความเสียหายของการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เท่ากับ 22.5% ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาไม่มีความเสียหายขนาดใหญ่หรือความเสียหายในวงกว้างเกิดขึ้นมากนักกับแปลงเพาะปลูกที่เอาประกันภัยในโครงการฯ
นายอานนท์ วังวสุ กล่าวเสริมว่า นอกจากการทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนของสมาคมประกันวินาศภัยไทยที่ได้ดำเนินการต่อเนื่องอย่างยาวนานเป็นเวลา 55 ปีแล้ว สมาคมฯ ยังมีเป้าประสงค์ให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนเคียงคู่สังคมไทย สมาคมฯ จึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานตามพันธกิจที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลักตามแนวคิด ESG ซึ่งเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน คือ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ทั้งนี้ สมาคมฯ ได้ยึดมั่นดำเนินงานตามหลักธรรมภิบาลรวมทั้งให้การสนับสนุนกิจกรรมและโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจประกันวินาศภัยไทยมาโดยตลอด
หนึ่งในโครงการที่สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ดำเนินการและให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ โครงการบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนเพื่อการมีน้ำใช้อย่างสมดุลและยั่งยืน หรือ "โครงการธนาคารน้ำใต้ดิน" เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่ประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถประกอบอาชีพได้โดยไม่ต้องประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก ตามเจตนารมณ์ของสมาคมฯ ในการเปลี่ยนให้พื้นที่ "ทุ่งกุลาร้องไห้ เป็น ทุ่งกุลายิ้มได้" โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทย ในฐานะผู้บริหารโครงการประกันภัยข้าวนาปี มาตั้งแต่ปี 2554 ได้มีการจัดตั้งกองทุนประกันภัยข้าวนาปีขึ้น ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งเป็นเงินสมทบจาก "บริษัท" ที่เข้าร่วมรับประกันภัย และต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "กองทุนประกันภัยพืชผล" เมื่อปี 2561 เนื่องจากมีโครงการประกันภัยพืชอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือเยียวยาให้กับผู้เอาประกันภัยข้าวนาปี กรณีที่พื้นที่ที่เอาประกันภัยประสบภัยพิบัติ แต่ไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่ประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน สมาคมฯ จึงนำเงินนี้บางส่วนมาช่วยเหลือเกษตรกรให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ไม่ต้องประสบกับภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซาก โดยได้เลือกพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดของประเทศไทย และประสบปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมซ้ำซากอยู่เป็นประจำ มาเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินดังกล่าว
โครงการธนาคารน้ำใต้ดินข้างต้นเป็นโครงการที่สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับ สถาบันน้ำนิเทศศาสนคุณ โดยพระนิเทศศาสนคุณ (หลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) ดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการจัดทำโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อย่างเต็มรูปแบบไปแล้วรวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่ ธนาคารน้ำใต้ดิน "หนองฮีโมเดล" ตำบลดูกอึ่งและตำบลเด่นราษฎร์ อำเภอหนองฮี จังหวัดร้อยเอ็ด ธนาคารน้ำใต้ดินตำบลสระคู อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด และ ธนาคารน้ำใต้ดิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตร้อยเอ็ด ณ ทุ่งกุลาร้องไห้ ตำบลหินกอง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด รวมใช้งบประมาณทั้งสิ้น 45,485,500 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้กว่า 169,475 ไร่ หรือคิดเป็น 8.4% ของพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
ทั้งนี้ ในปี 2565 สมาคมฯ ยังได้ขยายพื้นที่การดำเนินโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ ณ ตำบลกู่กาสิงห์ อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ใช้งบประมาณรวม 16,131,500 บาท ครอบคลุมพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เพิ่มขึ้นอีก 47,052 ไร่ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ โดยหากโครงการนี้แล้วเสร็จ การทำธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ทั้ง 4 โครงการนี้จะส่งผลให้น้ำใต้ดินแผ่กระจายไปโดยรอบตามทิศทางการเคลื่อนตัวของโลก การเติมน้ำลงใต้ดินมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดแหล่งน้ำใต้ดินเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ในบริเวณเครือข่ายนี้มีความชุ่มชื้นและดูดซับน้ำได้มากขึ้น ลดปัญหาการเกิดภัยแล้งและน้ำท่วม ช่วยให้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวบ้านในพื้นที่ดีขึ้นเนื่องจากมีน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอและยั่งยืนต่อไป นอกจากนี้ หากโครงการธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่สมาคมฯ ดำเนินการอยู่นี้ประสบผลสำเร็จในการลดปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมก็จะเป็นโครงการตัวอย่างให้ภาครัฐหรือหน่วยงานเอกชนที่ต้องการทำโครงการเพื่อสังคมอย่างยั่งยืนสามารถนำไปดำเนินการขยายผลทำธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยได้ต่อไปด้วย
“การทำกิจกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนนี้เป็นทิศทางที่สมาคมฯ มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนเพื่อมุ่งสู่ ESG ที่เป็นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืนต่อไป” นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้าย
ดาวน์โหลด presentation ประกอบงานแถลงข่าว คลิกที่นี่ (อัปเดตข้อมูลล่าสุดวันที่ 29 กันยายน 2565)
สมาคมประกันวินาศภัยไทย แสดงความยินดีกับเลขาธิการ คปภ. คนใหม่
17 พฤศจิกายน 2566 กิจกรรมส่วนกลางการแข่งขันฟุตบอลประกันภัย (7 คน) ครั้งที่ 11
18 พฤศจิกายน 2566 กิจกรรมส่วนกลาง