นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายอนุบัญญัติที่ใช้กำกับดูแลธุรกิจประกันวินาศภัย (Regulatory Guillotine) ร่วมกับสำนักงาน คปภ. โดยสมาคมฯ ได้ศึกษารูปแบบและวิธีการของการทำ Regulatory Guillotine ในหลากหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งการทำ Regulatory Guillotine ของภาคการเงินไทย เพื่อนำเสนอกรอบและรูปแบบสำหรับการปฏิรูปกฎหมายประกันวินาศภัย ซึ่งจะช่วยลดภาระของภาคธุรกิจและประชาชนในการปฏิบัติตาม รวมถึงภาระต่อรัฐในการบังคับใช้
“เนื่องจาก Landscape ของการประกอบธุรกิจในปัจจุบันแตกต่างจากบริบทที่เคยเกิดขึ้นในอดีตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยีซึ่งเข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและก่อให้เกิด Business Model ใหม่ ๆ กฎหมายที่มีอยู่จึงอาจล้าสมัยและไม่ตอบโจทย์การประกอบธุรกิจในยุคดิจิทัลได้ นอกจากนี้แล้ว การออกกฎหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยไม่มีการยกเลิกกฎหมายเดิมที่หมดความจำเป็นหรือล้าสมัย รวมถึงการออกกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตามแบบตายตัว ขาดความยืดหยุ่น และซ้ำซ้อน ทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจสูงเกินความจำเป็น ซึ่งจะเป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้เอาประกันภัย และไม่ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจด้วย
สำหรับเรื่องของการขออนุมัติอนุญาตต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องของการอนุมัติเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันภัย ควรเป็นการกำหนดกรอบและหลักเกณฑ์แทนการอนุมัติรายกรมธรรม์ เพื่อให้ภาคธุรกิจมีเสรีในการออกผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับรูปแบบความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้าในการอนุมัติกรมธรรม์ได้เป็นอย่างดี”
สำหรับการทบทวนอนุบัญญัติทั้งหมดของธุรกิจประกันวินาศภัยนั้น อยู่บน 3 หลักเกณฑ์หลัก ได้แก่ ความชอบด้วยกฎหมาย ความจำเป็นของกฎหมาย และความเป็นมิตรในการประกอบธุรกิจ ซึ่งกฎหมายที่ผ่านการประเมินตาม 3 หลักเกณฑ์ข้างต้น จะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) กฎหมายที่คงไว้ดังเดิม หากชอบด้วยกฎหมาย มีความจำเป็น และเป็นมิตรในการประกอบธุรกิจ 2) กฎหมายที่ต้องมีการทบทวน หากชอบด้วยกฎหมายและมีความจำเป็น แต่ไม่เป็นมิตรในการประกอบธุรกิจ และ 3) กฎหมายที่ต้องถูกยกเลิก หากไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่มีความจำเป็น
นายอานนท์ วังวสุ ได้กล่าวต่อว่า “ใน Insurance Core Principles แต่ละข้อ ซึ่งถือเป็นหลักอ้างอิงในการออกกฎหมายสำหรับธุรกิจประกันภัยนั้น ได้แบ่งเนื้อหาออกได้เป็น 3 ระดับ คือ 1) Principle Statements 2) Standards และ 3) Guidance โดย Principle Statements และ Standards เป็น 2 ระดับบนที่ต้องออกเป็นกฎหมาย แต่ Guidance เป็นเพียงการขยายความเพื่อให้มีความเข้าใจในรายละเอียด ไม่จำเป็นต้องนำมาออกเป็นกฎหมายทั้งหมด แต่ควรนำรายละเอียดมาออกเป็นแนวปฏิบัติแทน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเหมาะสมมากขึ้น”
สำหรับประเด็นหลักที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้นำเสนอสำหรับการปฏิรูปกฎหมายอนุบัญญัติในครั้งนี้ มีดังนี้
1. การออกกฎหมายในลักษณะที่เป็น Principle-Based Approach เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นและเหมาะสมกับขนาด ลักษณะการประกอบธุรกิจ และความซับซ้อนของบริษัทประกันวินาศภัย ทั้งการทำ Regulatory Guillotine ในครั้งนี้และการออกกฎหมายใหม่ในอนาคต
2. การออกกฎหมายไม่ควรทำให้บริษัทประกันวินาศภัยสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน เนื่องจากการออกหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเรื่องในลักษณะเดียวกันกับสถาบันการเงินอื่นแต่มีความเข้มข้นมากกว่า ย่อมก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงกว่าและไม่ก่อให้เกิดสนามการแข่งขันที่เท่าเทียมกันสำหรับบริษัทประกันวินาศภัย
3. ในการทำประชาพิจารณ์นั้น ควรให้เวลาภาคธุรกิจในการให้ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะอย่างเพียงพอ และประเด็นที่ภาคธุรกิจและสำนักงาน คปภ. มีความเห็นไม่ตรงกันควรต้องถูกนำมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อให้กฎหมายที่จะออกมานั้นมีหลักการในการกำกับดูแลที่เหมาะสมและมีความเป็นมิตรในการประกอบธุรกิจควบคู่กันไปด้วย
4. การปรับเปลี่ยนกระบวนการส่งข้อมูลและรายงานให้เป็น Digitalization เพื่อเพิ่มความรวดเร็ว ความแม่นยำ ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน รวมถึงการทำ Data Guillotine เพื่อลดการรายงานข้อมูลที่ซ้ำซ้อน รวมทั้งผลักดันให้เกิดระบบฐานข้อมูลด้านการประกันภัย (Insurance Bureau System) โดยเร็ว
5. การกำกับดูแลและการตรวจสอบบริษัทประกันภัยควรดำเนินการตามระดับความเสี่ยง เพื่อส่งเสริมให้บริษัทประกันภัยมีวินัยในตัวเอง รักษาธรรมาภิบาล และสามารถใช้ประโยชน์จากการบริหารความเสี่ยงและเงินกองทุนอย่างแท้จริง และส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
นายอานนท์ วังวสุ กล่าวปิดท้ายว่า “การทำ Regulatory Guillotine ถือเป็นโครงการที่ดีในการปฏิรูปกฎหมายที่มีอยู่ อย่างไรก็ตาม การกำหนดกรอบในการออกกฎหมายใหม่ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยให้การออกกฎหมายในอนาคตนั้นเหมาะสมกับบริบทที่เปลี่ยนไป และจะช่วยลดการทำ Regulatory Guillotine ในอนาคตให้น้อยลง
อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลแบบเข้มงวดเพียงอย่างเดียวย่อมไม่อาจทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตและแข่งขันได้ จึงควรมีการสร้างความสมดุลระหว่างการกำกับและการส่งเสริมธุรกิจประกันภัย เนื่องจากโลกปัจจุบันเป็นโลกยุคดิจิทัลซึ่งพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็ว เทคโนโลยีถูกพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รูปแบบการทำธุรกิจใหม่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การออกกฎหมายจึงควรมีความยืดหยุ่น สอดคล้องกับ Landscape การทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตฝ่ากระแสการเปลี่ยนแปลงใน VUCA World ได้อย่างยั่งยืน”
การฝึกสอนงานศิลปหัตถกรรม รุ่นที่ 5
22 September 2014 TGIA Center Activitiesสมาคมประกันวินาศภัยไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)
15 September 2014 TGIA Center Activities