ตามที่ได้มีการเสนอแนวคิดในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ให้บริษัทประกันภัยให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนซึ่งลดการใช้รถยนต์เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 และส่งผลทำให้อุบัติเหตุทางรถยนต์ลดลงนั้น
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยได้มีการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 มาโดยตลอด และได้มีการประชุมหารือร่วมกับสำนักงาน คปภ. อย่างต่อเนื่องเพื่อร่วมกันกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย โดยขณะนี้ได้มีการกำหนดมาตรการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยรถยนต์แล้ว ดังต่อไปนี้
1. ผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ผู้ประกอบการขนส่ง รวมถึงเจ้าของรถยนต์ที่ไม่ได้ใช้งานในช่วงการระบาดนี้ สามารถแจ้งบริษัทประกันภัยเพื่อหยุดการใช้รถได้ โดยบริษัทประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ในช่วงระยะเวลาที่แจ้งหยุดการใช้รถ หรือผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกให้บริษัทประกันภัยขยายระยะเวลาคุ้มครองออกไปตามระยะเวลาที่หยุดการใช้รถได้เช่นกัน
2. ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกทำประกันภัยแบบระยะสั้นได้ ทั้งแบบรายวัน รายเดือน หรือรายไตรมาส เพื่อลดภาระในการชำระเบี้ยประกันภัย
3. บริษัทประกันภัยได้รับอนุญาตจากสำนักงาน คปภ. ให้ลดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ได้ต่ำกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยลดสูงสุดได้ถึงร้อยละ 30 ตามความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงไป
4. บริษัทประกันภัยกำหนดให้ผู้เอาประกันภัยสามารถผ่อนชำระเบี้ยประกันภัยได้สูงสุดถึง 180 วัน
นายอานนท์ วังวสุ ได้เปิดเผยต่อไปว่า การประกาศใช้เคอร์ฟิวและการรณรงค์ให้ประชาชนอยู่บ้านนั้น ส่งผลทำให้การเกิดอุบัติเหตุรถยนต์ที่มีคู่กรณีในเดือนเมษายนลดลงประมาณ 30% อย่างไรก็ตาม การเกิดอุบัติเหตุที่มีคู่กรณีนี้มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 3 ของเคลมทั้งหมด ในขณะที่เคลมที่ไม่มีคู่กรณี เช่น การเฉี่ยวชนเสาหรือประตูบ้านจะมีปริมาณถึง 2 ใน 3 ของเคลมทั้งหมด และในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายนนั้นเป็นช่วงที่ผู้เอาประกันภัยมีการแจ้งเคลมในลักษณะนี้สูงที่สุดในรอบปี เนื่องจากเป็นช่วงที่โรงเรียนปิดภาคเรียน และในปีนี้ มาตรการการทำงานที่บ้านส่งผลให้เคลมในลักษณะนี้เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
เนื่องจากการคิดคำนวณเบี้ยประกันภัยนั้นจะขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของผู้เอาประกันภัยในการขับขี่และการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น หากผู้เอาประกันภัยมีความถี่ในการใช้รถน้อยลงเนื่องมาจากมาตรการเคอร์ฟิวและการรณรงค์ให้อยู่บ้าน และไม่เกิดอุบัติเหตุในปีที่ทำประกันภัย เมื่อผู้เอาประกันภัยต่ออายุกรมธรรม์ในปีถัดไป ก็จะได้รับส่วนลดเบี้ยประกันภัยประวัติดีตั้งแต่ร้อยละ 20 ถึง 50 ซึ่งนายอานนท์มีความเห็นว่า จำนวนผู้เอาประกันภัยที่จะได้รับส่วนลดเบี้ยประวัติดีในปีนี้น่าจะเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน หากพิจารณาจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่ลดลงถึง 30% ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ ยังคงต้องดูสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นภายหลังมีการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ด้วยว่าจะยังมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับเพิ่มความคุ้มครองสำหรับประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับและภาคสมัครใจในกรณีการเสียชีวิตและทุพพลภาพ จาก 3 แสนบาทเป็น 5 แสนบาท ซึ่งในการปรับเพิ่มความคุ้มครองนี้ ทางภาคธุรกิจไม่ได้มีการปรับเบี้ยประกันภัยขึ้นแต่อย่างใด และคาดว่าจะส่งผลให้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีดังกล่าวเพิ่มขึ้นประมาณ 3 พันล้านบาท
ในส่วนของภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2563 นั้น นายอานนท์กล่าวว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 อย่างแน่นอน โดย IMF ได้คาดการณ์ว่า GDP ของไทยในปี 2563 จะหดตัวสูงถึงร้อยละ 6.7 ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดของประเทศในกลุ่มอาเซียน ฉะนั้น จึงคาดว่าเบี้ยประกันวินาศภัยในปีนี้จะหดตัวลงอย่างน้อย ร้อยละ 3 ในขณะที่สำนักวิจัยและสถิติ บริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่า เบี้ยประกันวินาศภัยในปีนี้จะหดตัวลงร้อยละ 6.5 ถึง 17.2 โดยการวิเคราะห์ดังกล่าวได้พิจารณาจากปัจจัยหลักที่เกี่ยวข้อง อาทิ การลดลงของยอดขายรถยนต์ใหม่ในเดือนมีนาคมที่ลดลงกว่าร้อยละ 40 สำหรับผลตอบแทนจากการลงทุนของธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2563 นั้น คาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ถึง 1.7 และจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นอย่างมาก
นายอานนท์ได้กล่าวสรุปว่า ถึงแม้สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโลกและระบบเศรษฐกิจไทย แต่ขอให้มั่นใจได้ว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยไทยยังคงทำหน้าที่ในการเป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐและเอกชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มความสามารถ