ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2560 เห็นชอบการดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี ได้มีเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายขั้นต่ำ จำนวน 25 ล้านไร่ ดังนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลและเกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันภัยข้าวนาปี ในฐานะนายทะเบียนประกันภัย จึงได้เห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ตามรูปแบบและหลักเกณฑ์ของการรับประกันภัยโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 อัตราค่าเบี้ยประกันภัยจะลดจากเดิม 100 บาทต่อไร่ เป็น 90 บาทต่อไร่ หรือ 97.37 บาทต่อไร่ (รวมอากรแสตมป์และภาษี) เท่ากันทุกพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยในอัตรา 61.37 บาทต่อไร่ (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแสตมป์) และธ.ก.ส.จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยในส่วนที่เหลือ 36 บาทต่อไร่ ให้กับเกษตรกรที่เป็นลูกค้าสินเชื่อของ ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2560
สำหรับความคุ้มครองตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2560 ได้เพิ่มวงเงินความคุ้มครองทั้ง 7 ภัย ได้แก่ ภัยน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ภัยลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ภัยลูกเห็บ ภัยจากไฟไหม้ ซึ่งจะได้รับวงเงินคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ จากเดิมคุ้มครอง 1,111 บาทต่อไร่ และภัยจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด เพิ่มความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ จากเดิมคุ้มครอง 555 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรสามารถซื้อได้ตั้งแต่ก่อนเพาะปลูกจนถึงวันสุดท้ายของการขาย แต่ไม่เกินวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ของทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ไม่เกินวันที่ 15 ธันวาคม 2560 นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จะได้มีการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลตามโครงการดังกล่าวอย่างเป็นระบบ โดยดำเนินการร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรณีมีการประกาศภัยเพื่อให้สำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ธ.ก.ส. และสมาคมประกันวินาศภัยไทยรับทราบข้อมูลอย่างรวดเร็วและทันท่วงที ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดในการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่เกษตรกรต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่าปีการผลิต 2560 ได้ปรับเขตการรับประกันภัยให้ครอบคุลมพื้นที่ภาคใต้อีก 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้สอดคล้องกับการกำหนดเขตภาคใต้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในปี 2560 นอกจากนี้ สิ่งสำคัญยังได้ปรับแก้ไขคำจำกัดความวันที่เกิดความเสียหาย เพื่อให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีได้รับประโยชน์สูงสุดจากการทำประกันภัยข้าวนาปี ที่สามารถรองรับกรณีมีการประกาศภัยหลายครั้ง เช่น วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 ได้เกิดภัยพิบัติและมีการประกาศภัยในภาพรวม (ในขณะนั้นหมู่บ้านของเกษตรกรรายนี้ยังไม่ได้รับความเสียหายจากเหตุภัยพิบัตินี้) ซึ่งเกษตรกรได้ขอทำประกันภัยในวันที่ 15 กรกฎาคม 2560 แต่ต่อมาปรากฏว่าในหมู่บ้านของเกษตรกรรายนั้นได้เกิดภัยพิบัติจริงในวันที่ 30 กรกฎาคม 2560 ซึ่งเดิมจะไม่ได้รับความคุ้มครอง เนื่องจากระบบได้บันทึกรายงานข้อมูลความเสียหายเพื่อรับค่าสินไหมทดแทน (กษ.02) ไว้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2560 แล้ว ซึ่งจะได้รับคืนเบี้ยประกันภัยเท่านั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จึงได้มีการปรับแก้ไขคำจำกัดความดังกล่าวและบูรณาการความร่วมมือกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย บริษัทผู้รับประกันภัย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมส่งเสริมการเกษตร โดยจะได้ให้ความคุ้มครองในกรณีที่มีการประกาศเขตให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินหลายครั้งดังกล่าวนี้ ซึ่งจะพิจารณาจากข้อมูลการประกาศภัยพิบัติที่แท้จริงประกอบการประเมินความเสียหายของพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติ เพื่อพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้เกษตรกรผู้เพาะปลูกข้าวนาปีอย่างเป็นธรรมต่อไป
“สำนักงาน คปภ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการประกันภัยเพื่อเข้าไปมีส่วนช่วยลดความเลื่อมล้ำของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งอาชีพทำนาในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากต้องพึ่งพิงปัจจัยทางธรรมชาติเป็นอย่างมาก เกษตรกรจึงมีความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ลมพายุ และแมลงศัตรูพืช ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ไม่คงที่แน่นอน และบางรายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน จึงจำเป็นต้องมีระบบประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและยกระดับรายได้ ตลอดจนสร้างความมั่นคง ในอาชีพให้กับเกษตรกรไทยได้อย่างยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: สำนักงาน คปภ.
คปภ.ลุยปรับประกันภัยรถภาคบังคับ
03 February 2015 Generalคปภ.ตั้งเป้าปี 58 ขายกรมธรรม์ทะลุล้านฉบับ
30 January 2015 General