ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้ยกร่างประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและการชดใช้เงินตามสัญญาประกันชีวิต โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยและการชดใช้เงิน หรือ ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย โดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2560 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลธุรกรรมประกันภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือระบบออนไลน์ โดยผ่านความเห็นชอบของบอร์ดคปภ. และเสนอให้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามเป็นที่เรียบร้อยแล้วนั้น
ขอแจ้งว่าขณะนี้ประกาศทั้งสองฉบับได้มีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 โดยจะมีผลบังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็ก กลาง และใหญ่ ได้มีเวลาในการปรับตัวและเตรียมความพร้อมกับการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตและผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย ให้เป็นไปตามประกาศทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคอุตสาหกรรมประกันภัยและประชาชนสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้อย่างง่ายดาย โดยมีกฎกติการองรับไว้อย่างชัดเจน
สำหรับสาระสำคัญๆของประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ เช่น การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยสามารถดำเนินการผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นช่องทางการเสนอขายใหม่ ไม่มีการพึ่งพาตัวแทนประกันภัย หรือนายหน้าประกันภัย โดยผู้เอาประกันภัยสามารถแสดงเจตนาขอทำประกันภัยผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์และทำความเข้าใจในผลิตภัณฑ์ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้บริษัท นายหน้า หรือธนาคารที่ได้รับความเห็นชอบจากบริษัทเท่านั้นที่จะสามารถเสนอขายผ่านช่องทางนี้ได้ และแบบกรมธรรม์ประกันภัย ตลอดจนวิธีขายผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน ซึ่งบริษัทที่ได้รับความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว หากต้องการจำหน่ายกรมธรรม์ชนิดนี้ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ต้องมาขอความเห็นชอบจากนายทะเบียนด้วย ในส่วนของการชำระเบี้ยประกันภัย หากทำด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ต้องเข้าบัญชีบริษัทประกันภัยเท่านั้น และบริษัทต้องขอคำยืนยันการทำประกันภัยจากผู้เอาประกันภัยภายใน 7 วัน หลังจากออกกรมธรรม์ประกันภัยรวมทั้งบริษัทต้องให้สิทธิขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยภายใน 15 วัน (ยกเว้น กรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์รวมการคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกรมธรรม์ประกันภัยเดินทาง)
การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ประกอบการขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันภัย นายหน้าประกันภัย หรือธนาคาร ที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องอำนวยความสะดวกให้กับผู้เอาประกันภัย และลดต้นทุนของบริษัทในระยะยาว เช่น การกรอกใบคำขอเอาประกันภัยโดยใช้วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งรายละเอียดเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยในรูปข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และในส่วนการชดใช้เงิน หรือ ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยสามารถกระทำโดยใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงการรับเรื่องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์
นอกจากนี้ ประกาศทั้ง 2 ฉบับ ยังระบุมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ โดยกำหนดให้บริษัท นายหน้าประกันชีวิต ประกันวินาศภัย ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนผู้ขอทำประกันภัยในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์อีกด้วย
ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า ประกาศทั้งสองฉบับนี้จะทำให้ คปภ.สามารถวางหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลกิจกรรมของบริษัทประกันภัยที่จะทำในรูปอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจรทั้งกระบวนการตั้งแต่การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัย จนถึงการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย ในการปฏิบัติตามประกาศฯ โดยบริษัทสามารถเลือกที่จะนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ทั้งกระบวนการตั้งแต่การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การออกกรมธรรม์ประกันภัยจนถึงการชดใช้เงินหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัย หรือจะเลือกเฉพาะกิจกรรมที่บริษัทมีความพร้อม เช่น อาจนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เฉพาะในการออกกรมธรรม์ประกันภัยก็ได้ ดังนั้นการกำกับดูแลระบบประกันภัยยุคใหม่จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีกฎกติกาโดยเฉพาะเพื่อใช้ในการกำกับดูแล ตลอดจนเพื่อปกป้องประชาชนผู้บริโภคไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบจากการทำธุรกรรมประกันภัยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์
ที่มา: สำนักงาน คปภ.
The Asia InsurTech Summit 2018
07 February 2018 General