ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยผลการรับประกันภัย โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 ข้อมูล ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2559 มีเกษตรกรซื้อการประกันภัยข้าวนาปีรวมทั้งสิ้น 1,008,468 ราย มีพื้นที่เอาประกันภัย จำนวน 17.51 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 58.38 ของพื้นที่เป้าหมาย รวมค่าเบี้ยประกันภัยทั้งสิ้น 1,751 ล้านบาท จากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 16 บริษัท ซึ่งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ตามโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 โดยมีพื้นที่เป้าหมายในการเอาประกันภัย จำนวน 30 ล้านไร่ โดยเกษตรกรสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ได้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้ถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2559 และสำหรับพื้นที่ภาคใต้สามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2559
สำนักงาน คปภ. ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ให้ดำเนินโครงการอบรมความรู้ประกันภัย (Training for the Trainers) เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจหลักการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยงด้วยระบบประกันภัย โดยเฉพาะการรับประกันภัยข้าวนาปี เงื่อนไข และความคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกร และให้นำความรู้ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกร ได้รับความรู้และเห็นความสำคัญของระบบประกันภัย ซึ่งขณะนี้มีเจ้าหน้าที่ที่ผ่านโครงการอบรมความรู้ประกันภัยแล้วทั้งสิ้น จำนวนกว่า 1,200 คน จากการจัดอบรมครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ ทั้งสิ้น 7 ครั้ง ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครราชสีมา อุดรธานี อุบลราชธานี พิษณุโลก และเชียงราย โดยครั้งที่ 8 ครอบคลุมพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของโครงการดังกล่าว จัดขึ้นที่โรงแรมทวินโลตัส จังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสาวพจนีย์ ธนวรานิช ประธานคณะทำงานขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงาน โดย ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. เป็นผู้กล่าวรายงาน และสรุปภาพรวมความคืบหน้าของโครงการฯ และ ดร.พงศ์เทพ ไข่มุกด์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชให้เกียรติกล่าวต้อนรับ รวมทั้งมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในเรื่องการปฏิรูปการประกันภัยพืชผล เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิต และยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทย รวมถึงช่วยบรรเทาปัญหาด้านการเงินและปัญหาหนี้สินของเกษตร โดยขณะนี้ คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจได้เสนอให้รัฐบาลประกาศให้การประกันภัยพืชผลเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเสนอให้มีการจัดทำกฎหมายโดยเฉพาะเพื่อวางกรอบกติกาเกี่ยวกับการประกันภัยพืชผลแบบครบวงจร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อวางนโยบายการประกันภัยพืชผล ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจเป็นประธาน รวมทั้งจะมีคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนทั้งในระดับชาติและระดับภูมิภาค ซึ่งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการประกันภัยการเกษตรในส่วนภูมิภาคตามที่เสนอจะมีการจัดตั้งในทุกจังหวัด โดยจะมีผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นประธานฯ
“การใช้กลไกการประกันภัยทางการเกษตรมาเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้แก่เกษตรอย่างครอบคลุมและเป็นระบบสามารถแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรได้อย่างยั่งยืนซึ่งขณะนี้ตัวเลขการจำหน่ายกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี แม้จะมีพื้นที่เอาประกันภัยถึง 17.51 ล้านไร่ ซึ่งมากกว่ายอดในปีที่ผ่านมาถึง 17 เท่า แต่ยังคงต่ำกว่าเป้าตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดไว้ถึง 30 ล้านไร่ จึงจำเป็นต้องเร่งประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวทราบถึงโครงการประกันภัยข้าวนาปีฯ และประโยชน์ในการเข้าร่วมโครงการ เพราะโครงการนี้ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุดคือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวทั่วประเทศ ซึ่งสำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) จะยังคงเดินหน้าประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ตระหนักและเห็นความสำคัญ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับจากการทำประกันภัยข้าวนาปี เพื่อจะนำระบบประกันภัยมาบริหารความเสี่ยงช่วยเหลือชาวนาในปีการผลิต 2559 อย่างเต็มที่ตามนโยบายของรัฐบาล” เลขาธิการ คปภ. กล่าว
ที่มา: สำนักงาน คปภ.
CIO Roundtable ครั้งที่ 3/2567
07 November 2024 General