รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้มีคำสั่งที่ 395/2559 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2559 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้บริโภคได้รับผลกระทบแล้ว
สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ขอสรุปข้อเท็จจริง ดังนี้
1. บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ดำรงเงินกองทุนไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด นายทะเบียนจึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 27/5 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัทเสนอโครงการเพื่อแก้ไขฐานะเงินกองทุนของบริษัท แต่บริษัทก็ไม่สามารถดำเนินการตามโครงการที่นายทะเบียนได้
2. นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คณะกรรมการ คปภ.) จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศ-ภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัทแก้ไขฐานะการเงินและการดำเนินงาน และให้บริษัทหยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวด้วย โดยนายทะเบียนได้สั่งการให้บริษัทแก้ไขประเด็นปัญหา เช่น จัดหาเงินทุน/การเพิ่มทุนให้เพียงพอต่อภาระผูกพันตามสัญญาประกันภัยและให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามที่กฎหมายกำหนด จัดให้มีระบบงานและบุคลากรที่มีคุณภาพและจำนวนที่เหมาะสม เพื่อให้บริการประชาชนและผู้เอาประกันภัย ระบบงาน ได้แก่ ความพร้อมในระบบบัญชีการเงิน ระบบการเสนอขายและการพิจารณารับประกันภัย ระบบการจัดการค่าสินไหมทดแทน ระบบการบริหารความเสี่ยง ระบบการตรวจสอบ และระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มกราคม 2559
3. สำนักงาน คปภ. ได้ให้โอกาสบริษัทในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาเป็นระยะเวลานานพอสมควรแล้ว แต่บริษัทไม่สามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัทได้ และยังปรากฏข้อเท็จจริงว่าบริษัทมีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 จำนวน 13.12 ล้านบาท โดยบริษัทไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ถึงปัจจุบัน บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระหนี้สินตามสัญญาประกันภัยได้ ผู้บริหารบริษัทกระทำการจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท สำนักงาน คปภ. จึงได้ร้องทุกข์กล่าวโทษผู้บริหารบริษัทว่ากระทำความผิดตามมาตรา 352 มาตรา 353 และมาตรา 354 แห่งประมวลกฎหมายอาญาต่อพนักงานสอบสวน นอกจากนั้น บริษัทยังดำรงทรัพย์สินจัดสรรตามมาตรา 23 และมาตรา 27/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดย ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ขาดไปจำนวน 38.86 ล้านบาทและ 21.59 ล้านบาทตามลำดับ ส่งผลให้บริษัทยังคงมีปัญหาฐานะการเงินและการดำเนินงานอยู่คณะกรรมการ คปภ. จึงเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัทฯ
4. ในระหว่างการพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีหนังสือขอขยายระยะเวลาการแก้ไขปัญหาของบริษัทฯ ซึ่งสำนักงาน คปภ. และคณะกรรมการ คปภ. พิจารณาข้อเท็จจริงต่างๆ โดยละเอียดรอบคอบแล้ว เห็นควรยืนยันความเห็นและไม่อนุญาตให้มีการขยายระยะเวลา เนื่องจากบริษัทฯ มิได้แสดงหลักฐานยืนยันและการแก้ปัญหามิได้มีความคืบหน้า
5. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน มีฐานะการเงินอันไม่มั่นคง อันอาจเกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน มีการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของบริษัทได้ภายในระยะเวลาที่สมควร ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัยได้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย ของบริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2559
6. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของ บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อบริษัทประกันวินาศภัยอื่นๆ
7. เพื่อป้องกันมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับความเดือดร้อน สำนักงาน คปภ. ได้รับความร่วมมือจากบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 31 บริษัท ยินดีรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของผู้เอาประกันภัยซึ่งได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่ยังมีผลผูกพันอยู่ โดยขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัยซื้อกรมธรรม์ประกันภัยในแบบเดิม ระยะเวลาคุ้มครอง 1 ปี แล้วบริษัทที่เข้าร่วมโครงการจะขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมให้กับผู้เอาประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือของกรมธรรม์ประกันภัยเดิม ทั้งนี้ ผู้เอาประกันภัยจะต้องโอนสิทธิที่จะได้รับเบี้ยประกันภัยสำหรับระยะเวลาที่เหลือจากผู้ชำระบัญชี หรือจากกองทุนประกันวินาศภัยให้แก่บริษัทที่รับโอนกรมธรรม์ประกันภัยนั้นด้วย
8. สำหรับผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี และกองทุนประกันวินาศภัย ภายในสองเดือนนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยออกประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจพร้อมกับสำเนาบัตรประชาชน ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อผู้ชำระบัญชีของ บริษัท สัญญาประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ตามสถานที่ดังต่อไปนี้
ส่วนกลางยื่นได้ 3 แห่ง ดังนี้
(1) สำนักงาน คปภ. เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900
(2) สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600
(3) สำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260
ส่วนภูมิภาค ยื่นที่ สำนักงาน คปภ.ภาค และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ
9. สำหรับเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัย ให้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อผู้ชำระบัญชี ณ สถานที่และภายในกำหนดเวลาที่ระบุข้างต้น พร้อมทั้งนำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการขอยื่นชำระหนี้ ดังนี้ หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ บัตรประจำตัวประชาชน หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล) หากไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง จะต้องมีหนังสือมอบอำนาจ พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ
10. ปัจจุบันมีกองทุนประกันวินาศภัย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ ที่เกิดจากการเอาประกันภัย ในกรณีที่บริษัทล้มละลายหรือถูกเพิกถอนใบอนุญาต โดยเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ที่เกิดจากสัญญาประกันภัย จะต้องไปขอรับชำระหนี้จากผู้รับชำระบัญชี และ/หรือ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลายก่อน หากจำนวนเงินที่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท (ผู้ชำระบัญชี และ/หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) มีไม่เพียงพอ เจ้าหนี้ดังกล่าวมีสิทธิได้รับชำระหนี้ส่วนที่ขาดจากกองทุนฯ แต่รวมกันแล้วทุกสัญญาไม่เกินหนึ่งล้านบาทต่อราย
สำหรับรายชื่อบริษัทประกันวินาศภัยที่เข้าร่วมโครงการให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยสามารถ ดูได้จากเว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186
ที่มา: สำนักงาน คปภ. วันที่ 5 เมษายน 2559
เห็นชอบแก้ กม.ประกันภัย-ชีวิต กองทุนจ่ายเงิน
23 July 2014 General