สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เผยตัวเลขเบี้ยประกันภัยรับ 8 เดือนแรกของปี 2558 ขยายตัวร้อยละ 3.67 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปี 2558 จะเร่งผลักดันประกันภัยสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) รวมทั้งไมโครอินชัวรันส์ เพื่อรองรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางให้มีโอกาสเข้าถึงระบบประกันภัยมากขึ้น
นายอำนาจ วงศ์พินิจวโรดม ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนาและวิเคราะห์ระบบการตรวจสอบ เปิดเผยภาวะธุรกิจประกันภัยในช่วง 8 เดือนแรกปี 2558 (ม.ค. – ส.ค.) ว่า ธุรกิจประกันภัยในช่วงนี้ มีอัตราการเติบโตในอัตราที่ดีขึ้น โดยมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 478,781 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.67 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้ แบ่งรายละเอียดเป็นเบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิต จำนวน 343,135 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.42 สำหรับการประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด คือ การประกันชีวิตประเภทสามัญ 294,473 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.66 รองลงมาประเภทกลุ่ม 39,959 ล้านบาท ขยายตัวตัวร้อยละ 4.81 และประเภทอุตสาหกรรม 4,832 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.95
ธุรกิจประกันวินาศภัย จำนวนรวม 135,646 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.84 อย่างไรก็ตาม สำหรับการประกันภัยรถ เบี้ยประกันภัยรับสูงสุดอยู่ที่ 79,274 ล้านบาท มีการขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.94 แบ่งเป็นเบี้ยประกันภัยจากการประกันภัยรถภาคสมัครใจ 68,332 ล้านบาท และจากการประกันภัยรถภาคบังคับ 10,942 ล้านบาท รองลงมาการประกันภัยเบ็ดเตล็ด 45,684 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.49 และการประกันอัคคีภัย จำนวน 7,102 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.91
“เศรษฐกิจไทยถือว่ายังมีปัจจัยบวก เมื่อมองจากการลงทุนของรัฐบาล และการท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ คาดว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันสามารถส่งผลให้ธุรกิจประกันภัยสิ้นปี 2558 จะเติบโตได้ประมาณร้อยละ 4.73 แบ่งเป็นธุรกิจประกันชีวิตเติบโตร้อยละ 5.66 และธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตร้อยละ 2.49” ผู้ช่วยเลขาธิการ สายพัฒนาและวิเคราะห์ระบบการตรวจสอบกล่าว
นางคนึงนิจ สุจิตจร ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย เผยว่า ขณะนี้ธุรกิจ SME เป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยปัจจุบันรัฐบาลได้มีนโยบายให้การสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ
เพื่อเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการธุรกิจ SME เข้าสู่ระบบประภัยมากขึ้น สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมจัดทำแผนขอความร่วมมือหน่วยงานของรัฐฯที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรวบรวมผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่มีอยู่ มาจัดกลุ่มลักษณะความเสี่ยงภัย เพื่อนำไปสู่การออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัย รวมถึงช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสมกับผู้ประกอบการธุรกิจ SME ต่อไป
นางคนึงนิจ กล่าวต่อไปว่า สำนักงาน คปภ จะให้ความสำคัญกับเรื่องการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการ SME ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำประกันภัย ว่าเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ SME อีกด้วย รวมถึงอาจมีการเพิ่มความยึดหยุ่นในเรื่องของกฎระเบียบ เพื่อให้บริษัทประกันภัยสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์ได้หลายหลายตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการเพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจ SME ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะทุกบริษัทประกันภัยต่างคาดว่าการทำประกันภัยในกลุ่มนี้จะขยายตัวสูงขึ้นอย่างแน่นอน
นายจรัญ สอนสวัสดิ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายส่งเสริม สำนักงาน คปภ. กล่าวถึงนโยบายที่จะผลักดัน ไมโครอินชัวรันส์ หรือประกันภัยรายย่อย ว่า ในปี 2559 คปภ. ยังคงมีนโยบายที่จะผลักดันไมโครอินชัวรันส์อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่า ไมโครอินชัวรันส์จะยังโตได้มากกว่าร้อยละ 10 จากปีนี้อย่างแน่นอน เนื่องจากมีหลายปัจจัยบวกสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในกลุ่มประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของไมโครอินชัวรันส์
“จากปีที่ผ่านๆ มา สำนักงาน คปภ.ตั้งเป้าการเติบโตของไมโครอินชัวรันส์อยู่ที่ร้อยละ 10 แต่ปีหน้าเป็นปีแรกที่เราคาดว่าจะโตได้ดี สูงกว่าร้อยละ 10 โดยตัวแปรหลักมาจากนโยบายภาครัฐเรื่องของกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มใหม่ที่เข้ามาสู่ระบบประกันภัย” นายจรัญ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สำหรับในปี 2558 นี้ คปภ.ยังเชื่อมั่นว่า ยอดกรมธรรม์ไมโครอินชัวรันส์จะเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ร้อยละ 10 จากปีก่อน โดยช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ (สิ้นสุด ก.ย.2558) กรมธรรม์ประกันภัย ไมโครอินชัวรันส์ มีจำนวน 731,242 กรมธรรม์ ใกล้เคียงเป้าหมายที่คาดไว้ 1 ล้านกรมธรรม์
www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 22 ตุลาคม 2558
คปภ. เตือนประชาชนระวังถูกมิจฉาชีพ หลอกขายประกันภัยรถยนต์
15 September 2015 General