สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดตัว “โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558” ในวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม 2558 ณ โรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์วิทยาคม จังหวัดอ่างทอง โดยนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้เกียรติเป็นประธาน
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า กรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) เป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงภัยธรรมชาติให้เกษตรกรที่เพาะปลูกข้าวทั่วประเทศได้รับความคุ้มครองจากระบบประกันภัย และเป็นการแบ่งเบาภาระงบประมาณของรัฐบาล โดยเกษตรกรจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยตามระดับความเสี่ยงภัยตั้งแต่ 60 – 100 บาท/ไร่ ส่วนที่เหลือรัฐบาลอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้เกษตรกร และเกษตรกรที่เป็นลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรจะได้รับเงินอุดหนุนอีก 10 บาท/ไร่ การรับประกันภัยแบ่งพื้นที่จังหวัดทั่วประเทศตามความเสี่ยงภัยรวม 5 โซน ค่าเบี้ยประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 ดังนี้
รายละเอียด (บาทต่อไร่) |
พื้นที่เสี่ยงต่ำที่สุด |
พื้นที่เสี่ยงต่ำมาก |
พื้นที่เสี่ยงต่ำ |
พื้นที่เสี่ยงปานกลาง |
พื้นที่เสี่ยงสูง
|
เบี้ยประกันภัย |
115.00 |
220.00 |
330.00 |
420.00 |
450.00 |
เบี้ยประกันภัยรวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม |
124.12
|
236.47
|
355.24
|
451.54
|
483.64
|
เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันภัย |
60.00 |
70.00 |
80.00 |
90.00 |
100.00 |
รัฐบาลอุดหนุน |
64.12 |
166.47 |
275.24 |
361.54 |
383.64 |
เมื่อได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ และไฟไหม้ เกษตรกรจะได้รับความคุ้มครอง 1,111 บาท/ไร่ และความเสียหายที่เกิดจากศัตรูพืชหรือโรคระบาด จะได้รับความคุ้มครอง 555 บาท/ไร่ ซึ่งภัยดังกล่าวผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินในระยะเวลาที่เอาประกันภัย โดยบริษัทประกันภัยจะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากแบบรายงานข้อมูลความเสียหายจริง เพื่อรับค่าสินไหมทดแทน (กษ.02 เพื่อการประกันภัย) ที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติอำเภอ (ก.ช.ภ.อ)
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเสริมว่า ขณะนี้มีบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ 7 บริษัท ได้แก่ บมจ.กรุงเทพประกันภัย บมจ.เจ้าพระยาประกันภัย บมจ.ทิพยประกันภัย บมจ.นวกิจประกันภัย บมจ.ประกันภัยไทยวิวัฒน์ บมจ.ทูนประกันภัย และ บมจ.วิริยะประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงขอเชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2558 เพราะจะช่วยบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ อีกทั้งเบี้ยประกันภัยยังลดลงกว่าปีก่อนทุกพื้นที่เฉลี่ย 4.8% อีกด้วย เกษตรกรสามารถติดต่อเข้าร่วมโครงการฯ ได้ที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทุกสาขาทั่วประเทศ
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186 และเว็บไซต์ www.oic.or.th
www.oic.or.th
สำนักงาน คปภ. วันที่ 15 พฤษภาคม 2558
The Asia InsurTech Summit 2018
07 February 2018 General