สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสำนักงาน คปภ. ในการทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 25 (25th ASEAN Insurance Regulators’ Meeting: AIRM) และการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 48 (48th ASEAN Insurance Council Meeting: AIC) ภายใต้ธีม “Strengthening ASEAN Insurance Ecosystem Towards Digitalization Sustainability” โดยได้มีกำหนดการจัดประชุม AIRM และ AIC ในช่วงเวลาเดียวกัน คือ ระหว่างวันที่ 6-9 ธันวาคม 2565 ณ โรงแรมแชงกรี-ลา กรุงเทพ
การประชุม AIRM และ AIC ในปีนี้ มีผู้เข้าร่วมการประชุมฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานกำกับ รวมถึงผู้แทนจากภาคธุรกิจประกันวินาศภัยและประกันชีวิตในประเทศอาเซียน ตลอดจนผู้ที่เกี่ยวข้อง จำนวนกว่า 250 คน โดยการประชุมในครั้งนี้มีไฮไลต์ที่น่าสนใจ อาทิ
- พิธีเปิดงาน โดย นายอาคมเติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ได้กล่าวถึงบทบาทและความสำคัญธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เป็นเครื่องมือในการช่วยบริหารความเสี่ยง สร้างหลักประกันความมั่นคงในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกระดับ ดังนั้น การจัดประชุมของหน่วยงานกำกับฯ และภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียนครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่สำคัญในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นด้านการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย รวมถึงความต้องการของภาคธุรกิจประกันภัยในมิติต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการกำกับดูแล รวมถึงกฎระเบียบต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของธุรกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภาวะการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน
- การติดตามความก้าวหน้าของคณะทำงานในด้านต่าง ๆ ของ AIC ในวันที่ 6 ธันวาคม 2565 ซึ่งประกอบไปด้วย คณะทำงานด้านการประกันภัยรถผ่านแดน (ASEAN Council of Bureaux Meeting: COB) คณะทำงานด้านการประกันภัยต่อ (ASEAN Reinsurance Working Committee: ARWC) คณะทำงานด้านการศึกษา (ASEAN Insurance Education Committee Meeting: AIEC) และคณะทำงานการด้านภัยพิบัติ (ASEAN Natural Disaster Research and Works Sharing: ANDREWS) ซึ่งแต่ละคณะทำงานต่างมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานไปตามลำดับ รวมถึงที่ภาคธุรกิจเห็นควรให้มีการจัดตั้งคณะทำงาน ASEAN Takaful/Retakaful Working Committee (ATRWC) โดยมี นาย Mohammad Nizam Yahya จาก Malaysian Re Takaful เป็นประธานคณะทำงาน รวมถึงการตอบรับ Asosiasi Asuransi Syariah Indonesia (AASI) เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมทบอย่างเป็นทางการของ AIC
- การประชุมร่วมของหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัย (Joint Plenary Meeting) เพื่อร่วมกันหารือและกำหนดทิศทางการพัฒนาธุรกิจประกันภัยของภูมิภาคอาเซียนในอนาคตให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ
1) หน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยเห็นพ้องต้องกันถึงการให้ความสำคัญในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน และได้หารือร่วมกันในหลากหลายมิติ ทั้งในเชิงการลงทุนในสินทรัพย์ ด้าน Environment, Social, Governance (ESG) ทั้งในระดับสากลและอาเซียน โดยหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจประกันภัยอาเซียนจะร่วมกันเดินหน้าหาแนวทางที่เหมาะสมร่วมกันต่อไป
2) ความท้าทายของการดำเนินการภายใต้พิธีสารฉบับที่ 5 เรื่องกรอบการประกันภัยรถขนส่งสินค้าผ่านแดนภาคบังคับของอาเซียน เช่น ความแตกต่างของระบบความรับผิดและการชดเชยความเสียหาย การขาดการยอมรับร่วมกัน (Mutual Recognition) ในการประกันภัยของประเทศอื่น ซึ่งหน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจจะร่วมกันเดินหน้าแก้ไขประเด็นข้อท้าทายเหล่านี้ รวมถึงประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สร้างการรับรู้ในหมู่ประชาชนทั่วไปให้มากขึ้น และผลักดันการพัฒนาระบบ ACMI ให้เป็นดิจิทัล (Digitalization) เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการซื้อขายประกันภัยรถภาคบังคับผ่านแดนอาเซียน ผ่านช่องทางออนไลน์
3) ผลกระทบเรื่องการฉ้อฉลในการประกันภัย (Fraud in Insurance) และแนวทางการลดปัญหาดังกล่าว โดยให้ความสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล อย่างไรก็ดี ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องพิจารณาการดำเนินงานภายใต้ขอบเขตของกฎหมายที่มีอยู่เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ การประชุม AIRM ครั้งที่ 25 และการประชุม AIC ครั้งที่ 48 ถือได้ว่าประสบความสำเร็จในการเป็นเวทีที่หน่วยงานกำกับและภาคธุรกิจได้มีโอกาสหารือกันในประเด็นต่าง ๆ ท่ามกลางความท้าทายใหม่ ๆ ในปัจจุบัน อีกทั้งการจัดงานครั้งนี้ซึ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้รับการตอบรับจากผู้แทนจากหน่วยงานกำกับดูแลและภาคธุรกิจประกันภัยในอาเซียนเป็นอย่างดีด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมงานที่มากกว่าหลายครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งยังเป็นการจัดประชุมร่วมกันแบบ Physical Meeting เป็นครั้งแรกหลังจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงถือเป็นความท้าทายในการบริหารจัดการงานประชุมครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม จากความร่วมแรงร่วมใจของทุก ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจและภาคธุรกิจประกันภัยของไทย รวมถึงหน่วยงานในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้การประชุมครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
สำหรับการประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 26 และการประชุมสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียน ครั้งที่ 49 ในปีหน้านั้น ประเทศเวียดนามจะรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ โดยในภาคธุรกิจฯ จะมีนาย Shahrildin Jaya ประธาน Brunei Insurance & Takaful Association (BITA) ทำหน้าที่เป็นประธานสภาธุรกิจประกันภัยอาเซียนต่อจากนาย Nguyen Xuan Viet ประธานจาก Insurance Association of Vietnam ซึ่งได้ทำหน้าที่เป็นประธานสภาฯ ในปีนี้
ดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุม
แถลงข่าวงานสัปดาห์ประกันภัย ประจำปี 2560
12 September 2017 TGIA Center Activitiesชมรม PR ดูงานสำนักข่าว NK News 13 กันยายน 2560
13 September 2017 TGIA Center Activities