ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 670/2565 และคำสั่งกระทรวงการคลังที่ 671/2565 ลงวันที่ 1 เมษายน 2565 ให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัย บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป
การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชน โดยสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการตามขั้นตอนและกระบวนการต่าง ๆ ภายใต้ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของประชาชนผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ พร้อมทั้งขอชี้แจงข้อเท็จจริง ข้อกฎหมายและเหตุประกอบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการเตรียมมาตรการต่าง ๆ เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเดือดร้อน ดังนี้
1. ตามที่ปรากฏหลักฐานต่อนายทะเบียนว่า บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มีฐานะหรือการดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน อันเป็นไปตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 เพื่อให้การกำกับดูแลและติดตามการแก้ไขปัญหาฐานะและการดำเนินการของทั้งสองบริษัทเป็นไปอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทั้งการติดตามความมั่นคงทางการเงินและการดำเนินการทางธุรกรรมที่ถูกต้องโปร่งใส รวมถึงป้องกันมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน ประกอบกับเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากปล่อยให้เนิ่นช้าไป จะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ประโยชน์สาธารณะ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ประกอบกับมติคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ในการประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 เป็นเหตุให้นายทะเบียนด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (บอร์ด คปภ.) มีคำสั่งตามมาตรา 52 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 สั่งให้บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) หยุดรับประกันวินาศภัยเป็นการชั่วคราวและแก้ไขฐานะการเงินและดำเนินการตามที่นายทะเบียนกำหนด
2. สำนักงาน คปภ. ได้เข้าควบคุมธุรกรรมการเงินเพื่อให้มั่นใจได้ว่าระหว่างที่มีคำสั่งดังกล่าว จะไม่มีการโยกย้ายทรัพย์สิน หรือมีการกระทำใด ๆ ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและประชาชน นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินการเร่งรัดให้ทั้งสองบริษัทจ่ายค่าสินไหมฯ เป็นผลให้ตั้งแต่วันที่ 16-31 มีนาคม 2565 สามารถเร่งรัดค่าสินไหมทดแทนและคืนเบี้ยประกันภัยให้กับผู้เอาประกันภัยได้จำนวน 3,028 ราย เป็นเงิน 294.94 ล้านบาท โดยก่อนมีคำสั่งฯ ตามมาตรา 52 สามารถเร่งทั้งสองบริษัทให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัยที่ได้ยื่นกับสำนักงาน คปภ.ทั้งในส่วนกลาง สำนักงาน คปภ.ภาคและสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงกรณีร้องเรียน ณ ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนประกันภัยโควิด-19 สามารถเร่งรัดได้ 1,440 เรื่อง รวมเป็นเงิน 136.80 ล้านบาท
3. ต่อมาปรากฏพยานหลักฐานว่าบริษัททั้งสองไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนด ดังนี้
3.1 สำนักงาน คปภ. ได้รับแจ้งอย่างเป็นทางการจากบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) ว่าในการประชุมครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2565 ของคณะกรรมการบริษัทเครือไทยโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท อาคเนย์ฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติมแก่บริษัท อาคเนย์ฯ อีกต่อไป ในขณะที่บริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) แจ้งว่า ในการประชุมครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2565 ของคณะกรรมการบริษัท พันธกิจมั่นคง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไทยประกันภัยฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินเพิ่มเติม อันเป็นการยืนยันได้ว่าทั้งสองบริษัทไม่มีแหล่งเงินทุนที่จะสามารถมาเสริมสภาพคล่องอีกต่อไป
3.2 ต่อมาสำนักงาน คปภ. ได้เชิญตัวแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัททั้งสอง และผู้รับมอบอำนาจจากกรรมการผู้มีอำนาจผูกพันบริษัทมาประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขฐานะและการดำเนินการตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 3/2565 และคำสั่งนายทะเบียนที่ 4/2565 โดยในส่วนของการแก้ไขฐานะการเงินให้เพียงพอต่อภาระผูกพัน และให้มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนเพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด ตัวแทนผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทแจ้งว่า ที่ประชุมผู้ถือหุ้นใหญ่มีมติเอกฉันท์ไม่ให้การสนับสนุนเงินทุนกับบริษัท อย่างไรก็ตาม สำนักงาน คปภ. ได้ให้บริษัทกลับไปทบทวนแนวทางและกระบวนการในแก้ไขฐานะและการดำเนินการ ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของท่านนายกรัฐมนตรีที่ห่วงใยประชาชนผู้เอาประกันภัยให้ได้รับความคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน แต่บริษัททั้งสองมีหนังสือลงวันที่ 22 มีนาคม 2565 แจ้งว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ยังคงยืนยันตามมติเดิมที่จะมิให้การสนับสนุนทางการเงินกับทางบริษัท
3.3 รวมทั้งบริษัททั้งสองมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนล่าช้า อันเข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 36 และมาตรา 37 (11) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 ประกอบกับประกาศกระทรวงพาณิชย์ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่ถือว่าเป็นการประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือประวิงการคืนเบี้ยประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2549 และประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการชดใช้เงิน หรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยของบริษัทประกันวินาศภัย พ.ศ. 2559 ทั้งยังคงมีจำนวนค่าสินไหมทดแทนคงค้างจำนวนมากจนส่งผลกระทบต่อฐานะและการดำเนินการของทั้งสองบริษัท ตลอดจนชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย
3.4 ดังนั้นหากรอให้ครบกำหนดเวลาที่กำหนดไว้อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยหรือประชาชน สำนักงาน คปภ. จึงปฏิบัติตามมติบอร์ด คปภ. ครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2565 ที่ให้สำนักงาน คปภ. ติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ทั้งสองบริษัทปฏิบัติตามเงื่อนไขที่นายทะเบียนกำหนดอย่างเคร่งครัด หากทั้งสองบริษัทไม่ปฏิบัติตามก็ให้เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณามีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน)
4. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัทมีหนี้สินเกินกว่าทรัพย์สิน จัดสรรเงินสำรองตามมาตรา 23 และจัดสรรสินทรัพย์หนุนหลังตามมาตรา 27/4 ไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด มีสินทรัพย์สภาพคล่องไม่เพียงพอสำหรับการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนไม่เพียงพอตามที่กฎหมายกำหนด แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีฐานะการเงินไม่มั่นคงและไม่เพียงพอต่อภาระผูกพัน ประวิงการจ่ายค่าสินไหมทดแทนที่ต้องจ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควร อันเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติแห่งกฎหมายหลายประการ กรณีจึงเห็นได้ว่าทั้งสองบริษัทไม่มีความสามารถและความพร้อมที่จะรับประกันภัย และประกอบธุรกิจประกันภัยได้ต่อไป ถ้าให้ประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยต่อไป จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือผู้เอาประกันภัย ตลอดจนความน่าเชื่อถือของธุรกิจประกันภัย ดังนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 59 (1) (2) (4) และ (5) แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ จึงมีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไป โดยหากบริษัทไม่เห็นด้วยกับคำสั่งนี้มีสิทธิเสนอคำฟ้องยื่นต่อศาลปกครองกลางภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง
5. เมื่อรัฐมนตรีฯ มีคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยของทั้งสองบริษัทแล้ว
บอร์ด คปภ. ได้อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 60 และมาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัยฯ แต่งตั้งให้กองทุนประกันวินาศภัย เป็นผู้ชำระบัญชี
6. การเพิกถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันวินาศภัยในครั้งนี้เป็นปัญหาฐานะการเงินและการจัดการภายในของบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินหรือสภาพคล่องของธุรกิจประกันภัยในภาพรวม ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้เตรียมมาตรการที่จะช่วยเหลือผู้เอาประกันภัย เพื่อรองรับมิให้ผู้เอาประกันภัยได้รับผลกระทบไว้แล้ว ดังนี้
6.1 บูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) และบริษัทประกันวินาศภัย บริษัทประกันชีวิต ดังนี้
(1) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายและได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
กับบริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยตามที่ประกาศกำหนด โดยกองทุนประกันภัยวินาศภัยจะเข้ารับช่วงจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามที่ได้มีการอนุมัติค่าสินไหมทดแทนไว้แล้ว
(2) ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายแล้ว แต่ยังไม่ได้ยื่นเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนไว้กับทั้งสองบริษัท สามารถติดต่อกองทุนประกันวินาศภัย เพื่อยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยตามที่ประกาศกำหนดโดยกองทุนประกันวินาศภัยจะพิจารณาค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย
(3) ผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยทุกประเภทของทั้งสองบริษัท สามารถที่จะดำเนินการในส่วนของกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าว ดังนี้ ในกรณีขอรับคืนเบี้ยประกันภัยที่เหลือจากกองทุนประกันวินาศภัย โดยกองทุนประกันวินาศภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้ตามส่วนระยะเวลาตามความคุ้มครองที่เหลืออยู่
6.2 สำนักงาน คปภ. ได้จัดตั้งศูนย์ให้คำแนะนำ รับเรื่องร้องเรียน และอำนวยความสะดวกในการรับคำขอรับชำระหนี้ รวมทั้งการสนับสนุนบุคลากรในการรับคำขอรับชำระหนี้ ทั้งที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลางและสำนักงาน คปภ. ส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการแก่ผู้เอาประกันภัยและประชาชนเป็นไปอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
6.3 มีการจัดเตรียมสถานที่ที่สามารถยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้แก่
(1) กองทุนประกันวินาศภัย (ในฐานะผู้ชำระบัญชี) อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ชั้น 15 เลขที่ 1010 ถนนวิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2791-1444 ต่อ 26-30
(2) สำนักงาน คปภ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากกองทุนประกันวินาศภัยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการรับเอกสารหลักฐานการขอรับชำระหนี้แล้วส่งต่อให้กองทุนประกันวินาศภัยต่อไป โดยผู้เอาประกันภัยสามารถยื่นได้ทั้งส่วนกลางและต่างจังหวัด ดังนี้ ในส่วนกลาง ยื่นได้ 3 แห่ง ประกอบด้วย สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง เลขที่ 22/79 ถนนรัชดาภิเษก แขวงจันทรเกษม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 โทร. 0-2515-3999 หรือ สายด่วน คปภ. 1186 หรือ chatbot “คปภ. รอบรู้” (LINE@OICConnect) , สำนักงาน คปภ. เขตท่าพระ เลขที่ 287 ซอยรัชดาภิเษก 6 ถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร 10600 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2476-9940-3 และสำนักงาน คปภ. เขตบางนา เลขที่ 1/16 อาคารบางนาธานี ชั้น 8 ถนนบางนาตราด กม.3 แขวงบางนา เขตบางนา กรุงเทพมหานคร 10260 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2361-3769-70 ในส่วนภูมิภาค สามารถยื่นขอรับชำระหนี้ได้ที่สำนักงาน คปภ. ภาค และสำนักงาน คปภ. จังหวัด ทั่วประเทศ
6.4 สำนักงาน คปภ. ได้พัฒนา Web Application โดยเฉพาะขึ้น เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้เอาประกันภัยของทั้งสองบริษัทได้รวดเร็วขึ้น โดยระบบจะแจ้งข้อมูลไปยังผู้เอาประกันภัยทางออนไลน์
6.5 สำนักงาน คปภ. มีการบูรณาการความร่วมมือกับกองทุนประกันวินาศภัยและสมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยจัดเตรียมหมายเลขโทรศัพท์รวม 124 คู่สายทั่วประเทศ เพื่อตอบข้อซักถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทั้งนี้ ในช่วง 7 วันแรก นับแต่วันที่มีการเพิกถอนใบอนุญาตของทั้งสองบริษัท ได้มีการให้บริการโทรศัพท์ผ่านสายด่วน คปภ. 1186 จำนวน 10 คู่สาย ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ หากเป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท ให้ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัท ภายใน 60 วันนับแต่วันที่กองทุนประกันวินาศภัยกำหนดในประกาศ โดยให้นำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 2 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้
1) กรมธรรม์ประกันภัย 2) บัตรประจำตัวประชาชน 3) ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ หรือเอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ และ 4) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
และหากเป็นเจ้าหนี้อื่นที่ไม่ใช่เจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยให้นำเอกสารแสดงความเป็นเจ้าหนี้ต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนา จำนวน 1 ชุด ประกอบการยื่นขอรับชำระหนี้ ดังนี้ 1) หลักฐานแสดงถึงมูลหนี้ 2) บัตรประจำตัวประชาชน และ 3) หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีเป็นนิติบุคคล)
ในกรณีที่หากเจ้าหนี้ไม่สามารถยื่นได้ด้วยตนเองจะต้องมีหนังสือมอบอำนาจโดยติดอากรแสตมป์ 30 บาท พร้อมกับสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ยื่นต่อกองทุนประกันวินาศภัยในฐานะผู้ชำระบัญชีของทั้งสองบริษัทฯ
“การเพิกถอนใบอนุญาตฯ ของทั้งสองบริษัทในครั้งนี้เพื่อมิให้เกิดความเสียหายต่อผู้เอาประกันภัยและเพื่อให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามาดูแลการชำระหนี้ตามสัญญาประกันภัย ในการนี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้กำชับให้ดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ เพื่อมิให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยเดือดร้อน โดยสำนักงาน คปภ. จะบูรณาการร่วมกับกองทุนประกันวินาศภัย สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย ช่วยบรรเทา เยียวยาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มที่ รวมทั้งเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 สำนักงาน คปภ. ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) เพื่อสอบสวนว่ามีกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทรายใดบ้างที่กระทำการเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย และสำนักงาน คปภ. จะจัดให้มีทีมการตรวจสอบพิเศษ (Special Audit) เพื่อตรวจสอบความถูกต้องกรณีที่บริษัทมีการโอนกรมธรรม์ไปยังบริษัทประกันภัยอื่น ในช่วงก่อนที่มีคำสั่งนายทะเบียนตามมาตรา 52 สำหรับรายชื่อบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ สามารถดูได้จากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ. (www.oic.or.th) หรือสอบถามได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ Line Chatbot@Oicconnect ข้อมูลอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย
ที่มา: เว็บไซต์สำนักงาน คปภ.
วิริยะประกันภัย ชวนวัยใสสร้างวินัยขับขี่
26 May 2014 General