ธุรกิจประกันภัย ยกระดับแผน BCP เข้มข้น ปรับรูปแบบเป็นดิจิทัลอินชัวเรอร์
พร้อมให้บริการลูกค้าและดูแลพนักงาน รับมือโควิด-19 ระบาดรุนแรง
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้น มีการระบาดในวงกว้างอย่างรวดเร็วและมีจำนวนผู้ติดเชื้อกว่า 1,100 คนแล้วในขณะนี้ ประกอบกับรัฐบาลได้มีการประกาศ พรก. ฉุกเฉินเพื่อรับมือการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 สมาคมฯ จึงได้แจ้งให้บริษัทสมาชิกพิจารณาการยกระดับการเตรียมความพร้อมและประกาศใช้แผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยเร็ว โดยเน้นการปรับรูปแบบการทำธุรกิจเป็นดิจิทัลอินชัวเรอร์ให้มากที่สุด
“ผมเชื่อว่าในทุกวิกฤต มีโอกาสเสมอ ธุรกิจประกันวินาศภัยซึ่งอยู่ในระหว่างการ Transform ตัวเองไปเป็น Digital Insurance คงต้องเร่งสปีดในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับสถานการณ์ในขณะนี้ เราคงต้องนำรูปแบบและวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้เพิ่มมากขึ้นในกระบวนการทำงานต่าง ๆ เพื่อสามารถจะให้บริการกับผู้เอาประกันภัยได้อย่างรวดเร็วและไม่หยุดชะงัก ที่สำคัญคือสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ได้เป็นอย่างดี”
นายอานนท์ ได้ให้ความเห็นต่อว่า ที่ผ่านมาหลายบริษัทได้มีการปรับรูปแบบ วิธี และกระบวนการทำงานให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์เรียบร้อยแล้ว และขยายขอบเขตการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของระบบการพิจารณารับประกันภัย ระบบการออกและนำส่งกรมธรรม์ (E-Policy) ระบบการต่ออายุกรมธรรม์ (E-Renewal) ระบบสินไหมอัตโนมัติ (E-Claim) ระบบการชำระเงิน (E-Payment) และระบบ Call Center อย่างไรก็ตาม บริษัทที่อยู่ระหว่างดำเนินการปรับเปลี่ยนรูปแบบคงต้องรีบเร่งกระบวนการ Digitalized ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
ในส่วนของการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายนั้น เนื่องจากธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นธุรกิจที่ถูกกำกับโดยสำนักงาน คปภ. สมาคมฯ จึงได้ส่งหนังสือขอความอนุเคราะห์จากสำนักงาน คปภ. เพื่อพิจารณาผ่อนผันให้บริษัทประกันวินาศภัยนำส่งรายงานและข้อมูลทั้งหมดในรูปแบบและช่องทางอิเล็กทรอนิกส์แต่เพียงอย่างเดียวได้ ไม่ต้องนำส่งรายงานและข้อมูลในรูปแบบของ Hard Copy และ CD ตั้งแต่ตอนนี้จนถึงสิ้นปีหรือเมื่อสถานการณ์มีความคลี่คลาย
นายอานนท์ กล่าวว่า “การปรับเปลี่ยนนั้นคงต้องไปด้วยกันทั้งระบบ ทั้งฝั่งบริษัทประกันภัยและฝั่งผู้กำกับดูแล การปรับรูปแบบและการนำส่งเอกสารให้เป็นอิเลคทรอนิคส์ทั้งหมด จะช่วยให้การนำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องของบริษัทประกันวินาศภัยมาใช้ปฏิบัตินั้น สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และสอดคล้องกับการประกอบธุรกิจประกันภัยในยุคดิจิทัลได้เป็นอย่างดี”
นอกจากเรื่องของการให้ความสำคัญกับการให้บริการลูกค้าแล้ว สมาคมฯ ยังได้เน้นให้บริษัทสมาชิกกำหนดให้พนักงานปฏิบัติงานที่บ้านให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ของพนักงานจากการเดินทางมาปฏิบัติงาน และจัดสรรทรัพยากรที่เพียงพอและเหมาะสมสำหรับการดำเนินการดังกล่าว และคงไว้สำหรับพนักงานที่ต้องปฏิบัติงานนอกสถานที่เพื่อให้บริการลูกค้าและงานอื่นที่จำเป็นเท่านั้น
ถึงแม้การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและจิตใจของประชาชน รวมถึงระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างรุนแรงก็ตาม นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยมีความเชื่อมั่นว่า บริษัทประกันวินาศภัยจะสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัทเพื่อให้สามารถให้บริการกับผู้เอาประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพในสถานการณ์เช่นนี้ และสามารถแสดงบทบาทให้ทุกภาคส่วนได้ตระหนักว่า ธุรกิจประกันวินาศภัยได้ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับประชาชน สังคม และประเทศชาติในยามที่ประเทศเผชิญกับวิกฤต และระบบประกันภัยถือเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงที่สามารถจะช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้เป็นอย่างดี และเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของธุรกิจประกันวินาศภัยไทยและประชาชนทุกภาคส่วน จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถผ่านวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ในที่สุด
ผลการแข่งขันฟุตบอลประกันภัย 7 คน ครั้งที่ 6
01 December 2015 TGIA Center ActivitiesPIAM-TGIA LIAISON MEETING IN BANGKOK
30 November 2015 TGIA Center Activities