สมาคมประกันวินาศภัยไทย เตือนคนทุจริตเคลมประกันภัย Covid-19 หาทางติดเชื้อเพื่อหวังเงินประกัน
มีความผิดตามกฎหมาย และจะไม่ได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย
สมาคมประกันวินาศภัยไทย เตือนคนทุจริตเคลมประกันภัย Covid-19 หาทางติดเชื้อเพื่อหวังเงินประกัน
มีความผิดตามกฎหมาย และจะไม่ได้รับการชดใช้เงินตามสัญญาประกันภัย
นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา Covid-19 ส่งผลให้ประชาชนสนใจทำประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองโรคดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ขณะนี้มีผู้ทำประกันแล้วกว่า 2 ล้านกรมธรรม์ โดยปัจจุบันกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 นั้นมีหลากหลายแบบให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามความต้องการ เช่น 1) ความคุ้มครองกรณีตรวจพบว่าติดเชื้อ Covid-19 หรือเรียกง่าย ๆ ว่า เจอ จ่าย จบ 2) ความคุ้มครองการรักษาพยาบาลจากการติดเชื้อ 3) คุ้มครองการเจ็บป่วยขั้นโคม่าและเสียชีวิต และ 4) การชดเชยรายได้กรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล และบางกรมธรรม์มีการแถมความคุ้มครองการเสียชีวิตและทุพพลภาพจากอุบัติเหตุทุกชนิดด้วย ซึ่งผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อประกันภัยที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของตนเองได้
ซึ่งในช่วงแรกกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองแบบ เจอ จ่าย จบ ได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมาก แต่จากการที่อัตราการระบาดของ Covid-19 ในช่วงหลังนี้มีความรุนแรงต่างจากช่วงแรกมาก ถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 2 อาทิตย์ก่อน อัตราการระบาดในประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่ถึง 50 คน แต่ปัจจุบันเพิ่มขึ้นกว่า 600 คนแล้ว ประกันแบบ เจอ จ่าย จบ จึงมีโอกาสจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงเพราะความถี่คนที่ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น การกำหนดอัตราเบี้ยก็ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุ ถ้าความเสี่ยงสูงขึ้น ต้องมีการปรับขึ้นค่าเบี้ยประกันภัยหรือจำกัดเงื่อนไขสำหรับคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น การกำหนดให้มีระยะเวลารอคอย 14 วัน เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงของบริษัทลง ซึ่งการออกแบบผลิตภัณฑ์ประกันภัยออกมาขายแต่ละครั้ง บริษัทจะต้องพิจารณาถึงความเสี่ยงสะสมที่ได้รับประกันภัยไว้ และบริษัทมีสัญญาประกันภัยต่อรองรับขนาดไหน บริษัทมีสถานะเงินกองทุนที่มั่นคงเพียงใด ซึ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่ก็สามารถรับประกันภัยได้มาก บริษัทเล็กก็รับได้น้อย ส่วนนี้จึงเป็นข้อจำกัดของแต่ละบริษัท จะเห็นว่าบางบริษัทขายเต็มจำนวน เต็มขีดความสามารถในการรับแล้วก็ต้องหยุดการขาย เพราะไม่มีเงินกองทุนเพียงพอที่จะรองรับได้
ในส่วนของแนวโน้มการเติบโตของการประกันภัย Covid-19 มองว่ายังสามารถเติบโตต่อไปได้อีก เพราะว่าตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะจบลงเมื่อไหร่ ก็ยังคงขายต่อไปได้เรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ประกอบกับภาครัฐได้ออกนโยบายเกี่ยวกับค่ารักษาพยาบาลโรค Covid-19 ว่าหากมีประกันสุขภาพหรือประกันภัย Covid-19 ที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล ก็ควรเคลมประกันภัยก่อนเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ ส่วนใครที่มีประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ที่มีความคุ้มครองที่เพียงพอแล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเพิ่ม แต่คนที่ยังไม่มีประกันชีวิต หรือประกันสุขภาพ ประกันภัย Covid-19 ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งเพราะราคาไม่สูงมากและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในสถานการณ์เช่นนี้ได้เป็นอย่างดี
นายอานนท์ กล่าวถึงกรณีที่มีกลุ่มคนตระเวนซื้อกรมธรรม์ประกันภัย Covid-19 แบบเจอ จ่าย จบ เป็นจำนวนหลายกรมธรรม์เกือบทุกบริษัทและประกาศว่าจะยอมเสี่ยงให้ตนเองติดเชื้อเพื่อจะได้เงินค่าสินไหมทดแทนว่า การกระทำในลักษณะนี้ถือว่าไม่ใช่การบริหารความเสี่ยงภัยของตัวเอง แต่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งกลุ่มคนที่มีความคิดและกระทำเช่นนี้ถือว่าอันตรายมากเพราะจะส่งผลเสียอย่างร้ายแรงและจะเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายของโรคมากขึ้นเพราะไม่กลัวและยอมให้ตัวเองเสี่ยงที่จะติดโรค สิ่งเหล่านี้จะทำให้ระบบประกันภัยและระบบการควบคุมการระบาดของโรคเสียหายไปด้วย จึงขอเตือนกลุ่มคนที่กระทำการในลักษณะนี้ว่า การประกันภัยจะให้ความคุ้มครองเฉพาะผู้เอาประกันภัยที่ใช้สิทธิ์โดยสุจริตเท่านั้น หากพิสูจน์ได้ว่าใช้สิทธิ์โดยไม่สุจริตทำประกันภัยและจงใจให้ตัวเองติดเชื้อ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและจะไม่ได้รับค่าสินไหมทดแทน
ในกรณีเช่นนี้ อยากให้ผู้บริโภคตระหนักว่า “การประกันภัยนั้นเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่เครื่องมือในการเสี่ยงโชค” ใครมีความเสี่ยงเท่าไหร่ก็ซื้อประกันภัยให้เหมาะสม ครอบคลุมกับความเสี่ยงของตัวเอง เรากลัวการซื้อประกันภัยจำนวนมากแล้วไปแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ อยากให้ซื้อเพื่อเป็นหลักประกันความเสี่ยงของตัวเองมากกว่า “ผมอยากคุ้มครองประชาชนผู้สุจริตให้มีหลักประกันในราคาที่ถูกที่สุดเพียง 99 บาท ผู้มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงการประกันภัยมาช่วยดูแลตัวเองได้ โดยใช้เงินแค่ไม่ถึง 100 บาท ก็ซื้อกรมธรรม์ได้แล้ว ผมอยากให้คนกลุ่มนี้เข้าสู่ระบบประกันภัยให้มากขึ้น รู้จักการใช้ประกันภัยเป็นเครื่องมือในการดูแลตัวเองในยามที่ประสบเคราะห์ร้าย และอยากจะฝากไว้สำหรับผู้แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบว่า ประกันภัยเป็นการช่วยบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่การเสี่ยงโชค” นายอานนท์กล่าวทิ้งท้าย
รณรงค์ความปลอดภัยทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559
22 December 2015 TGIA Center Activities