สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงไตรมาสแรกธุรกิจประกันวินาศภัย โต 4.10% คาดทั้งปี 61 โต 3.5-4.5%
พร้อมเสนอภาครัฐขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังต่อ
สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงไตรมาสแรกธุรกิจประกันวินาศภัย โต 4.10% คาดทั้งปี 61 โต 3.5-4.5%
พร้อมเสนอภาครัฐขับเคลื่อนโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังต่อ
สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ไตรมาสแรกของปี 2561 มีเบี้ยประกันภัยรับ 57,656 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 4.10 คาดการณ์ทั้งปีเติบโตร้อยละ 3.5-4.5 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 226,079-228,258 ล้านบาท พร้อมนำเสนอโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังเพื่อต่อยอดโครงการประกันภัยข้าวนาปีซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี คาดว่าจะพร้อมในการรับประกันภัยให้แก่กลุ่มเกษตรกรชาวไร่ผู้ปลูกพืชดังกล่าวได้ภายในกลางปี 2561 นี้
นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า ในปี 2560 ถือได้ว่าเป็นปีที่ธุรกิจประกันวินาศภัยต้องฝ่าฟันกับภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยจากปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยของปี 2560 ที่ผ่านมา มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 218,434 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันภัยที่ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี คือ การประกันภัยสุขภาพ ขยายตัวร้อยละ 7.75 การประกันภัยการเดินทาง ขยายตัวร้อยละ 3.91 และการประกันภัยรถยนต์ ขยายตัวร้อยละ 3.21 เป็นผลมาจากการเติบโตของเศรษฐกิจที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการลงทุนของภาครัฐ และการส่งเสริมการประกันภัยของภาครัฐในการนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง โดยเฉพาะโครงการประกันภัยข้าวนาปี เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโต โดยในปีการผลิต 2560 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 1.76 ล้านราย มีพื้นที่รับประกันภัย จำนวน 26.12 ล้านไร่ มีเบี้ยประกันภัยรับรวมจำนวน 2,350.6 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งหมดของปี 2560
ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ไตรมาสแรกของปี 2561 นี้ ยังคงมีแนวโน้มการขยายตัวอย่างตต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงจากการรับประกันภัย จำแนกตามช่องทางการขาย จำนวน 57,656 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.10 เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการประกันภัยรถยนต์ (7.01%) การประกันอัคคีภัย (4.97%) การประกันภัยทางทะเลและขนส่ง (1.08%) ขณะที่การประกันภัยเบ็ดเตล็ด (-0.63%) มีการขยายตัวติดลบ ซึ่งไตรมาสแรกนี้ มีปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการขยายตัวของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรง ได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มูลค่าการนำเข้าและส่งออกสินค้า และสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2561 คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3.5-4.5 เบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 226,079-228,258 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยจากภาครัฐที่มีการส่งเสริมให้มีการลงทุน มาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้มีการขยายตัวของการนำเข้าและส่งออก รวมทั้งกำลังซื้อรถยนต์บางส่วนที่จะกลับมาหลังจากหมดภาระรถคันแรก และสอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ที่คาดว่า GDP จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.2-4.7 เป็นผลมาจากการขยายตัวของการส่งออก ร้อยละ 8.9 การบริโภคภาคเอกชนร้อยละ 3.7 การลงทุนภาครัฐและเอกชนร้อยละ 8.6 และ 3.9 ตามลำดับ ส่วนด้านการท่องเที่ยว คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยในปี 2561 ประมาณ 39 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.2 ส่วนตลาดรถยนต์โดยรวมในประเทศปี 2561 คาดว่าจะมีจำนวนรถใหม่ ประมาณ 900,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 3.4 ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีมากขึ้น ซึ่งโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะดึงเม็ดเงินลงทุนจากภาคเอกชนทั้งภายในและต่างประเทศในโครงการขนาดใหญ่ จะช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จากทุกปัจจัยรวมกันจึงคาดว่าอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยในปี 2561 จะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมดังกล่าวด้วยเช่นกัน
ในปี 2561 นี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ขยายบทบาทของธุรกิจประกันวินาศภัยไทยไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV มากขึ้น และส่งเสริมให้ธุรกิจบริษัทประกันวินาศภัยเกิดการควบรวมกิจการเพื่อลดต้นทุน ค่าใช้จ่าย เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ เพิ่มขนาดของเงินกองทุนของบริษัทประกันภัยให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อความมั่นคงของธุรกิจ ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการควบรวมกิจการจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวและอยู่รอดได้ภายใต้แรงกดดัน และพร้อมรับมือกับการแข่งขันและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่กระทบต่อการดำเนินธุรกิจได้ เช่น วิกฤติการทางเศรษฐกิจ การเกิดมหันตภัย ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน IFRS 9 และ IFRS 17 หรือแม้แต่ปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางการเมืองก็ตาม
อีกหนึ่งปัจจัยที่ผู้ประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ควรคำนึงถึงในการบริหารธุรกิจและตอบโจทย์สังคมในยุคดิจิทัล คือ การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดต้นทุน พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลาย เพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น มีการปรับตัวให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลง นำนวัตกรรมที่ทันสมัยมาใช้เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ที่สำคัญต้องคำนึงถึงการบริหารต้นทุน ค่าใช้จ่ายและราคาเบี้ยประกันภัยที่เหมาะสมและให้ความสำคัญในการบริการลูกค้า เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยนับจากนี้ต่อไป ในประเด็นดังกล่าวนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ดำเนินนโยบายในการส่งเสริม พัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัทสมาชิก รวมถึงพัฒนาศักยภาพ เพิ่มพูนความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันภัย เพื่อรองรับกับกฎเกณฑ์ เงื่อนไข และสถานการณ์ของธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านเข้าไปสู่โลกดิจิทัลอย่างรวดเร็ว ได้แก่
- การจัดประกวดผลงาน Startup InsurTech ในงาน InsurTech Ignite Hackathon โดยเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ (Start Up) รุ่นใหม่ เข้ามามีส่วนสำคัญในการนำเสนอแนวคิดและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจประกันวินาศภัย
- การจัดทำแผน Digital Insurance Framework ในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารและจัดการของบริษัทประกันภัย
- การฝึกอบรมและการแข่งขันการป้องกันทางไซเบอร์ ด้วยระบบจำลองยุทธ์ทางไซเบอร์ให้กับบุคลากรฝ่ายไอทีของบริษัทประกันภัยเพื่อพัฒนาความรู้และทักษะในการป้องกันและต่อต้านการโจมตีทางไซเบอร์
- การส่งเสริมพัฒนาความรู้ให้กับบุคลากรในธุรกิจประกันภัยอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบอุบัติเหตุ โครงการอบรมเจ้าหน้าที่พิจารณารับประกันภัยรถยนต์ โครงการรางวัลผู้สำรวจอุบัติเหตุรถยนต์ดีเด่น (Best Surveyor Award) โครงการพัฒนาผู้บริหารธุรกิจประกันวินาศภัย (Insurance Management and Development Program: IMDP) เป็นต้น
- การเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันวินาศภัยให้กับนักเรียน นักศึกษาและประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์ของการประกันวินาศภัย ในโครงการอัจฉริยะเยาวชนประกันภัย โครงการค่ายนักประกันวินาศภัยรุ่นเยาว์ หรือ Young Non-Life Insurer Camp เป็นต้น
- การถ่ายทอดองค์ความรู้ (Know-how) ด้านการจัดการสินไหมทดแทน ตามโครงการจัดอบรม CLMVT Claims Training for Surveyor ให้กับ Surveyor ของประเทศเพื่อนบ้านในแถบลุ่มแม่น้ำโขง
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังเป็นศูนย์กลางในการจัดทำข้อมูลด้านการประกันวินาศภัยเพื่อให้บริการกับบริษัทสมาชิก ประกอบด้วย การจัดทำราคากลางรถยนต์ (TGIA Book) การจัดทำราคาค่าซ่อมรถยนต์ การรับรองคุณภาพอะไหล่ จัดทำต้นแบบแผนที่และแบบจำลองการประเมินพื้นที่เสี่ยงภัยจากน้ำท่วมเพื่อการพิจารณารับประกันวินาศภัย (Flood Risk Assessment: FRAM) รวมถึงจัดทำรายงานสถิติของธุรกิจประกันวินาศภัย วิเคราะห์และคาดการณ์ทิศทาง แนวโน้มและโอกาสในการเกิดความเสี่ยงทุกรูปแบบ ซึ่งจะทำให้ธุรกิจประกันวินาศภัยสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพ
นายจีรพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2561 นั้น ได้เริ่มโครงการไปแล้วตามมติ ครม. ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมา โดยในปีนี้มีพื้นที่เป้าหมายในการรับประกันภัย จำนวน 30 ล้านไร่ แบ่งเป็นเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. จำนวน 29 ล้านไร่ และเกษตรกรทั่วไป จำนวน 1 ล้านไร่ ค่าเบี้ยประกันภัย 90 บาทต่อไร่ ให้คุ้มครองความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งหมด 6 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บและไฟไหม้ วงเงินความคุ้มครอง 1,260 บาทต่อไร่ และกรณีเกิดความเสียหายจากภัยศัตรูพืชและโรคระบาด วงเงินความคุ้มครอง 630 บาทต่อไร่ โดยเกษตรกรสามารถซื้อประกันภัยข้าวนาปีได้ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2561 ของทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ ภายในวันที่ 15 ธันวาคม 2561 โดยในปีนี้มีบริษัทสมาชิกเข้าร่วมโครงการฯ จำนวนทั้งสิ้น 22 บริษัท
ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐในการดูแลความเสี่ยงภัยอย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรด้วยการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยง ซึ่งจากผลสำเร็จของโครงการประกันภัยข้าวนาปี สมาคมฯ ยังได้ศึกษาแนวทางในการขยายโครงการประกันภัยพืชผลไปสู่พืชอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมนำเสนอโครงการประกันภัยข้าวโพดและมันสำปะหลังต่อสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยเพื่อพิจารณา ซึ่งคาดว่าจะมีความพร้อมในการรองรับการประกันภัยให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชดังกล่าวภายในกลางปีนี้ รวมถึงได้ลงพื้นที่สำรวจแปลงมันสำปะหลังและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ร่วมกับ ผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมส่งเสริมการเกษตร สำนักงาน คปภ. และ บริษัทนายหน้าประกันภัยต่อ เพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อมในการจัดทำรูปแบบการประกันภัยมันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ จังหวัดนครสวรรค์ นอกจากนี้ ในเดือนกรกฎาคม สมาคมฯ พร้อมด้วยภาคธุรกิจประกันภัยจะเดินทางไปศึกษาดูงานด้านการประกันภัยพืชผล ณ ประเทศเกาหลีใต้ เพื่อศึกษาแนวทางการทำประกันภัยพืชผลเพื่อนำกลับมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยพืชผลในประเทศไทยต่อไป
ดาวน์โหลด Presentation ประกอบงานแถลงข่าวสมาคมประกันวินาศภัยไทย 2560-61
สนับสนุนโครงการปีใหม่ ตายเป็นศูนย์
24 December 2013 TGIA Center Activities