เกษตรกรไทยเฮ…! นาข้าวได้รับความคุ้มครองภัย คปภ.ไฟเขียวกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์)
21 July 2016 Generalดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 เห็นชอบในการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ตามโครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 โดยมีพื้นที่เป้าหมายในการเอาประกันภัย จำนวน 30 ล้านไร่ทั่วประเทศ แบ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปีที่เป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. จำนวน 29.5 ล้านไร่ และสำหรับเกษตรกรทั่วไปอีกไม่เกิน 500,000 ไร่นั้น ในส่วนความรับผิดชอบของสำนักงานคปภ. ในฐานะนายทะเบียนประกันภัยได้พิจารณาภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายให้ความเห็นชอบแบบกรมธรรม์ รวมทั้งเอกสารประกอบกรมธรรม์ที่ทางสมาคมประกันวินาศภัยไทยยื่นเรื่องเพื่อขอความเห็นชอบเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 ซึ่งการทำประกันภัยข้าวนาปีตามนโยบายของรัฐบาลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาไทยเป็นอย่างมาก
เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การสร้างระบบประกันภัยพืชผลให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อประโยชน์อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรไทย จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสร้างระบบประกันภัยพืชผลตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง โดยเฉพาะในส่วนของกรมธรรม์ต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการและสามารถคุ้มครองสิทธิประโยชน์ให้แก่เกษตรกรได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับแบบกรมธรรม์ประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2559 สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวรันส์) ที่ได้ให้ความเห็นชอบนี้ มีอัตราเบี้ยประกันภัย 100 บาทต่อไร่ (ไม่รวมอากรแสตมป์และภาษี) โดยรัฐบาลจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัย 60 บาทต่อไร่ เกษตรกรชำระเบี้ยประกันภัย 40 บาทต่อไร่ ทั้งนี้หากเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. เพื่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ธ.ก.ส.ก็จะจ่ายเบี้ยประกันภัยแทนเกษตรกรเฉพาะในส่วนของวงเงินนั้น สำหรับส่วนเกินวงเงินนั้นหากเกษตรกรต้องการที่จะทำประกันภัยเพิ่มต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยเอง
โดยกรมธรรม์นี้จะให้ความคุ้มครอง ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ 7 ประเภท ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ และศัตรูพืชหรือโรคระบาด โดยจำนวนเงินความคุ้มครองสำหรับ 6 ภัยแรก จำนวน 1,111 บาทต่อไร่ และจำนวน 555 บาทต่อไร่ สำหรับภัยศัตรูพืชหรือโรคระบาด
ทั้งนี้ เกษตรกรทั่วไปสามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้จนถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2559 ส่วนเกษตรกรที่เป็นลูกค้า ธ.ก.ส. สามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้จนถึงวันที่ 30 สิงหาคม 2559 และสำหรับพื้นที่ภาคใต้สามารถซื้อกรมธรรม์นี้ได้จนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2559
สำหรับเงื่อนไขสำคัญในกรมธรรม์นี้ก็คือ ระยะเวลารอคอย โดยผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัย ในกรณีที่ข้าวที่เอาประกันภัยได้รับความเสียหายเมื่อพ้นระยะเวลารอคอย 7 วันแรก นับแต่วันที่ผู้เอาประกันภัยได้ขอเอาประกันภัย ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้นและปรากฏว่าจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เอาประกันภัยไว้ต่ำกว่าจำนวนพื้นที่เพาะปลูก (ไร่) ทั้งหมดในแปลงที่แจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ที่ได้รับการปรับข้อมูลการเพาะปลูกข้าวนาปีจริงในปี 2559/60 จากข้อมูลทะเบียนเกษตรกร (ทบก.) ปี 2558/59 ให้เป็นปัจจุบัน โดยกรมส่งเสริมการเกษตรให้ถือว่าผู้เอาประกันภัยเป็นผู้รับประกันภัยเองในส่วนที่แตกต่างกัน และในการคำนวณค่าสินไหมทดแทนผู้เอาประกันภัยต้องรับภาระส่วนเฉลี่ยความเสียหายไปตามส่วน
ในส่วนของการคืนเบี้ยประกันภัย มีอยู่ 6 กรณีคือ กรณีที่ผู้เอาประกันภัยขอเอาประกันภัยเกินกว่าพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีที่แจ้งไว้ในทะเบียนเกษตรกร ผู้รับประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามจำนวน (ไร่) เฉพาะพื้นที่ส่วนที่เกิน กรณีข้าวนาปีได้รับความเสียหายในระยะเวลารอคอย ผู้รับประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวน กรณีที่ผู้เอาประกันภัยขอเอาประกันภัยหลังจากวันแรกที่เกิดภัย ผู้รับประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวน กรณีพื้นที่เพาะปลูกตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ซึ่งรัฐบาลประกาศกำหนดให้เป็นพื้นที่รับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำ หรือพื้นที่ทางน้ำไหลผ่าน ผ่าน หรือพื้นที่ที่รัฐบาลไม่ส่งเสริมการเพาะปลูกโดยการงดส่งน้ำ และผู้เอาประกันภัยมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาล ทั้งนี้ หากมีการเอาประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวน กรณีที่ผู้เอาประกันภัยขอเอาประกันภัย โดยมีระยะเวลาเริ่มต้นเกินกว่าระยะเวลาที่กำหนดไว้ในตารางกรมธรรม์ประกันภัย ผู้รับประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวน และกรณีผู้เอาประกันภัยไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีในแปลงที่ได้ขอเอาประกันภัยไว้ ผู้รับประกันภัยจะคืนเบี้ยประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัยเต็มจำนวน
สำหรับบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 16 บริษัท คือบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เจ้าพระยาประกันภัย จำกัด (มหาชน)บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท เทเวศประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยศรีประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยเศรษฐกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) บริษัท นวกิจประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท นำสินประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท ฟอลคอนประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท มิตซุย สุมิโตโม อินชัวรันส์ จำกัด บริษัท เมืองไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท แอกซ่าประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน)
ที่มา: สำนักงาน คปภ.
คปภ.จี้ประกันคุ้มครองเหยื่อรถบัส
05 March 2014 General