สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดปี 68 ธุรกิจประกันวินาศภัยฟื้นเติบโต 1.5%-2.5% รับแรงหนุนเศรษฐกิจ-การท่องเที่ยวฟื้นตัว
20 December 2024 TGIA Center Activitiesสมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย รวม 3 ไตรมาส (มกราคม-กันยายน) ของปี 2567 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 209,060 ล้านบาท โดยประมาณการทั้งปี 2567 คาดเติบโต 0.0%-1.0% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 285,790-288,650 ล้านบาท และคาดการณ์แนวโน้มปี 2568 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 291,240-294,100 ล้านบาท เติบโต 1.5%-2.5% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวของประกันสุขภาพ รวมถึงประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงภัยธรรมชาติมากขึ้น
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2567 ว่า จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวส่งผลให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบน้อยลง หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง การแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น กระทบต่อภาคธุรกิจต่าง ๆ เป็นวงกว้าง ธุรกิจประกันวินาศภัยเองก็เผชิญกับความท้าทายจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ในส่วนของธุรกิจประกันวินาศภัยปี 2567 ต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลัง COVID-19 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความรุนแรงมากขึ้น ความท้าทายในการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ ล้วนส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัยทั้งสิ้น โดยผลประกอบการในรอบ 9 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนกันยายน 2567 ธุรกิจประกันวินาศภัย มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 209,060 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตติดลบ 0.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2567 ทั้งปีนั้น คาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 0.0%-1.0% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 285,790-288,650 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของยอดขายรถใหม่ในช่วงปลายปีที่ได้รับแรงกระตุ้นและมาตรการสินเชื่อที่เริ่มผ่อนคลาย รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาอาจส่งผลให้คนผ่อนสินเชื่อที่อยู่อาศัยนานขึ้นทำให้มีความจำเป็นต้องต่ออายุกรมธรรม์
ขณะที่ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ 3 ไตรมาส (มกราคม-กันยายน) ของปี 2567 ในส่วนของเบี้ยประกันภัยรถยนต์ จำนวน 116,909 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลง -1.3% ซึ่งมีผลมาจากภาวะเศรษฐกิจทำให้ยอดขายรถใหม่หดตัวจากปีก่อน 26% และเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยลดลงจากความนิยมในการซื้อกรมธรรม์ประเภท 1 น้อยลง ในขณะที่เบี้ยประกันอัคคีภัย จำนวน 8,329 ล้านบาท มีอัตราการเติบโต 7.3% ส่วนเบี้ยประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 5,216 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตลดลง -2.1% มาจากปัญหาสินค้าส่งออกล้นตลาดจากประเทศจีน ส่งผลกระทบการส่งออกสินค้าไทย ประกอบกับเบี้ยประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลและการขนส่งสินค้าทางรถบรรทุกหดตัว ด้านเบี้ยประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 78,606 ล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตลดลง จากประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล ประกันสุขภาพ และประกันความเสี่ยงภัย
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวต่อว่า ในส่วนของอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของการประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ในรอบ 9 เดือน (มกราคม-กันยายน) ของปี 2567 นั้น พบว่า อัตราความเสียหายโดยรวมของการประกันภัยทุกประเภทนั้นเท่ากับ 56.9% ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเฉพาะในกลุ่มประกันภัยรถยนต์และประกันสุขภาพ ซึ่งสะท้อนถึงความจำเป็นในการบริหารความเสี่ยงและปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยอัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์ 61.7% อัตราความเสียหายของการประกันอัคคีภัย 23.7% อัตราความเสียหายของการประกันภัยทางทะเล 30.0% และอัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ด 50.9% (ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด (44.0%) ประกันภัยความรับผิดตามกฎหมาย (32.2%) ประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล (48.8%) ประกันสุขภาพ (65.5%) ประกันภัยการเดินทาง (32.8%) และการประกันภัยอื่น ๆ (40.9%)) ซึ่งจากผลการดำเนินการของธุรกิจประกันวินาศภัย ณ ไตรมาส 3 ปี 2567 มีกำไรจากการรับประกันภัยลดลงจากอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ที่เพิ่มขึ้นใน 3 ประเภทงานหลัก คือ รถยนต์ ประกันความเสี่ยงภัยทุกชนิด และประกันสุขภาพ
ทั้งนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดการณ์แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2568 ว่าจะมีอัตราการเติบโตราว 1.5%-2.5% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 291,240 - 294,100 ล้านบาท จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งช่วยสนับสนุนการขยายตัวของธุรกิจประกันภัย ขณะที่การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล (InsurTech) เป็นปัจจัยหลักในการผลักดันธุรกิจประกันภัยไปข้างหน้า ทั้งการลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และทำให้ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ง่ายขึ้น รวมถึงปัจจุบันประชาชนต่างตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยและการเสี่ยงภัยธรรมชาติมากขึ้น ส่งผลให้ปีหน้าประกันอัคคีภัยจึงได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น ด้านประกันภัยการเดินทางยังคงเติบโต ด้วยปัจจัยบวกจากการแข็งค่าของเงินบาทและการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ทั้งนี้ในระยะยาวการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายมีแนวโน้มความต้องการมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประชาชนรับรู้ถึงสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายเมื่อถูกละเมิด ทำให้ภาพรวมในปี 2568 ธุรกิจประกันภัยยังคงมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 นี้ถือเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงและการเติบโตในอัตราที่ดีกว่าปีที่ผ่านมาอย่างแน่นอนสำหรับธุรกิจประกันวินาศภัย แม้จะยังต้องเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ทั้งภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี การจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ซึ่งส่งผลกระทบกับองค์กรทุกระดับ การแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรม ทำให้ต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าอยู่เสมอ
“ธุรกิจประกันวินาศภัย จึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้บุคคลและธุรกิจสามารถก้าวผ่านความเสี่ยงต่าง ๆ ไปได้ ไม่เพียงแต่ให้ความคุ้มครองทางการเงินเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นคงในระยะยาว ธุรกิจประกันวินาศภัย จึงถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การเข้าใจความเสี่ยงและบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ คือหัวใจสำคัญที่ทำให้อุตสาหกรรมนี้ดำรงอยู่ และเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป” นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวในตอนท้าย
การฝึกสอนงานศิลปหัตถกรรม รุ่นที่ 5
22 September 2014 TGIA Center Activities