สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 66 เติบโต 4-5% ส่งผลปี 67 โต ต่อเนื่อง 5-6% เบี้ยประกันภัยทะลุ 3 แสนล้านบาท
18 December 2023 TGIA Center Activities สมาคมประกันวินาศภัยไทย แถลงผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัย รวม 3 ไตรมาส (มกราคม-กันยายน) ของปี 2566 มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 210,141 ล้านบาท เติบโตรวม 5.2% โดยประมาณการทั้งปี 2566 คาดว่าจะเติบโต 4.0%-5.0% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 285,080-287,800 ล้านบาท และคาดการณ์แนวโน้มปี 2567 จะมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 301,050-303,900 ล้านบาท เติบโต 5.0%-6.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการประกันภัยรถไฟฟ้า (EV) การประกันภัยสุขภาพ และการประกันภัยการเดินทางที่มีผลมาจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยถึงภาพรวมผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยในปี 2566 ว่า จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ส่งผลให้ในปีนี้ธุรกิจประกันวินาศภัยเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม-เดือนกันยายน 2566 รวม 9 เดือนที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตรวม 5.2% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 210,141 ล้านบาท โดยการประกันภัยแต่ละประเภทยังคงมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2566 ทั้งปีนั้น สำนักงานอัตราเบี้ยประกันวินาศภัย (IPRB) สมาคมประกันวินาศภัยไทย คาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 4.0%-5.0% มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 285,080-287,800 ล้านบาท โดยการประกันภัยแทบทุกประเภทมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศที่กลับมาคึกคัก ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลดีต่อการประกันภัย
ขณะที่ผลประกอบการธุรกิจประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ 3 ไตรมาส (มกราคม-กันยายน) ของปี 2566 ในส่วนของเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์จำนวน 118,419 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 6.0%) โดยเพิ่มขึ้นจากยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้จำนวนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงผลกระทบจากเบี้ยประกันภัยเฉลี่ยต่อกรมธรรม์ของการประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยรถยนต์ทั้งปี 2566 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย ในขณะที่เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันอัคคีภัยมีจำนวน 7,762 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 2.1%) โดยเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในครึ่งปีแรก ส่วนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยทางทะเลและขนส่งมีจำนวน 5,330 ล้านบาท (ลดลง 0.6%) โดยมูลค่าการส่งออกเติบโตเพียงเล็กน้อยแต่มูลค่าการนำเข้าติดลบ และเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดมีจำนวน 78,630 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 4.6%) โดยเพิ่มขึ้นจากการประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ที่มีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงเพิ่มสูงขึ้นมากเป็น 25,884 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 16.1%) เนื่องจากเบี้ยประกันภัยต่อปรับตัวสูงขึ้นจากภาวะตลาดแข็งตัว (hard market) ซี่งเป็นผลจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และอาจยังมีผลกับการต่อสัญญาประกันภัยต่อในปีถัดไปบางส่วน
ส่วนอัตราความเสียหาย (Loss Ratio) ของการประกันวินาศภัยประเภทต่าง ๆ ณ 3 ไตรมาส ของปี 2566 นั้น พบว่า อัตราความเสียหายโดยรวมของการประกันภัยทุกประเภทนั้นเท่ากับ 54.5% โดยอัตราความเสียหายของการประกันภัยรถยนต์เท่ากับ 59.4% อัตราความเสียหายของการประกันอัคคีภัยเท่ากับ 23.6% อัตราความเสียหายของการประกันภัยทางทะเลเท่ากับ 32.9% และอัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดเท่ากับ 47.1% ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วพบว่า อัตราความเสียหายของการประกันภัยเบ็ดเตล็ดลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบันได้คลี่คลายลง
ทั้งนี้ โครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2566 เนื่องจากการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล คณะรัฐมนตรี จึงไม่สามารถอนุมัติให้ดำเนินโครงการประกันภัยข้าวนาปีได้ทันช่วงระยะเวลาเริ่มเพาะปลูกข้าว ส่งผลให้ไม่เกิดการทำประกันภัย โดยมูลค่าเบี้ยประกันภัยที่หายไปจากธุรกิจประกันภัยมีมูลค่าประมาณ 2 พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม โครงการประกันภัยพืชผล ปีการผลิต 2567 มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยเพิ่มการประกันภัยมันสำปะหลังเข้ามาในโครงการเป็นปีแรกด้วย ซึ่งคาดว่าเบี้ยประกันภัยรวมทั้งโครงการประกันภัยพืชผลจะมีมูลค่าประมาณ 2.2 พันล้านบาท
สำหรับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจประกันวินาศภัย ปี 2567 คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตราว 5.0%-6.0% เบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวม 301,050-303,900 ล้านบาท จากยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วยแรงสนับสนุนของภาครัฐ อาจทำให้ยอดขายทะลุ 100,000 คัน บวกกับประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการทำประกันภัยสุขภาพ เนื่องมาจากแนวโน้มค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า ส่งผลให้ในปีหน้ามีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นายกสมาคมประกันวินาศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการประกอบธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด พฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจประกันภัยที่ต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลง โดยในปี 2566 สมาคมฯ ได้มีการดำเนินงานเพื่อรับมือต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้เอาประกันภัยและประชาชน อาทิ การบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการป้องกัน ป้องปรามบริษัทต่างชาติที่จะเข้ามาหาประโยชน์จากการหลอกขายประกันภัยในประเทศไทยโดยไม่มีใบอนุญาตอย่างถูกต้อง รวมถึงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้ และคำแนะนำให้กับประชาชนในการซื้อประกันภัยไปพร้อมกัน รวมถึงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งสมาคมฯ ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว และได้มีมาตรการดูแลและส่งเสริมให้บริษัททำตามกฎหมาย มีการจัดทำแนวทางปฏิบัติของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยให้ครอบคลุมทุกด้าน (PDPA Guideline for Non-life Insurance Industry) เพื่อสื่อสารสร้างความเข้าใจให้บริษัทสมาชิกสามารถปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลได้อย่างสมบูรณ์
สมาคมฯ มุ่งมั่นในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน ยึดนโยบายในการทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับภาครัฐ และภาคเอกชน เน้นความเป็นมืออาชีพ สร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินธุรกิจที่โปร่งใส ควบคู่ไปกับการช่วยเหลือสังคมในมิติต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจประกันวินาศภัยไทยไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและมั่นคง นายกสมาคมประกันวินาศไทย กล่าวในตอนท้าย
ผลการแข่งขันแบดมินตันประกันภัยครั้งที่ 10
24 February 2018 TGIA Center Activities